ก.วิทย์ ผนึก สกว. จับมือจีน เดินหน้าสร้างองค์ความรู้-แลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ มุ่งเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) เมื่อวันที่ 20 ส.ค.58 ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ
งานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานของไทยกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ มุ่งประเด็นเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในการนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และ ดร.ยาปิง ฉาง (Yaping ZHANG), รองประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกล่าวต้อนรับผู้ร่วมงานอีกด้วย
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ต้อนรับ นายไบ๋ ชุนหลี่ ประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ระหว่างไทย - จีน และได้ทราบถึงบันทึกความเข้าใจระหว่าง วท. กับ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และ 2550 จึงมอบหมายให้ วท. และ สกว. พิจารณาแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนนั้น วท. และ สกว. ซึ่งทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องกันในการจัดให้มีการจัดประชุมหารือนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายไทยและจีนมีความพร้อมร่วมกันมากที่สุด ได้แก่ สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นหลายชิ้นทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ สกว. ได้สนับสนุนงานวิจัยด้านนี้ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ มากมาย ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือกันหลายหัวข้อ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในสิ่งมีชีวิต การวิจัยด้านสารสกัดจากธรรมชาติเชิงพาณิชย์และการทดสอบประสิทธิภาพยา การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร ด้านทะเลและสมุทรศาสตร์ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการเพาะเห็ด และด้านจุลชีววิทยา
ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ เช่น การบรรยายพิเศษเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพโดย ดร.จิน เชน เลขาธิการสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนซีฉวงบานนา (Xishuangbanna) ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการ ไบโอเทค สวทช. และศาสตราจารย์ ดร.สายสมร ลำยอง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การหารือระหว่างสองฝ่ายโดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งจากไทยและจีน รวมถึงการอภิปรายโต๊ะกลม (Roundtable) เพื่อสรุปผลการหารือ ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่ การสานต่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ CAS โร้ดแม็พ การดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาความหลากหลายทางชีวภาพ และข้อเสนอความร่วมมือสำหรับฝ่ายไทยและจีนเพื่อไปดำเนินการต่อไป