ก.วิทย์โชว์ผลงานถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ผ่านเครือข่าย 12 ปี มีอาสาสมัครวิทยาศาสตร์กว่า 10,000 คน และหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ 310 แห่ง พร้อมเผยแนวคิดตั้ง “ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์” ช่วยงานรองผู้ว่าฯ จังหวัด ด้านอดีตเชฟโรงแรมภูเก็ตผันตัวเป็นอาสาสมัครวิทย์หลังเห็นปัญหาท้องถิ่นผลิตเห็ดบริโภคเองได้น้อย
สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค.58 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีเข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา อาสาสมัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนเครือข่ายหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและท้องถิ่นในรูปแบบความร่วมมือคลีนิกเทคโนโลยี 12 ปีแล้ว และคลีนิกเทคโนโลยีได้ดำเนินการควบคู่การสร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งแต่ปี 2546 และขยายงานเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2553 และเมื่อต้นปี 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง
“ปัจจุบันมีเครือข่ายคลีนิกเทคโนโลยีจำนวน 137 แห่ง ใน 67 จังหวัด มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว 1,446 โครงการ และมีผู้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปใช้ประโยชน์แล้วมากกว่า 110,000 คน มีสัดส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 1.2 เท่าเมื่อเทียบกับงบประมาณในการดำเนินแต่ละปี และมีเครือข่ายอาสาสมัครวิทยาศาสตรืและเทคโนโลยีเกิดขึ้น 52 จังหวัด มีสมาชิกมากกว่า 10,000 คน และมีหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ 310 แห่ง ในพื้นที่ 249 อำเภอ 67 จังหวัด” รศ.ดร.วีระพงษ์รายงาน
ขณะที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงแนวคิดในเรื่องที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด ซึ่งจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเสริมการทำงานของผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูงและอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะ “ที่ปรึกษา” โดยอยู่ระหว่างการหาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้การทำานของที่ปรึกษาดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นายคณตน์ ศิโรทศ อาสามัครวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของหมู่บ้านผลิตเห็ดอินทรีย์บ้านลิพอนหัวหาร-บ่อแร่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลุ่มผลิตเห็ดอินทรีย์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความต้องการเห็ดมากถึงวันละ 5 ตัน เนื่องจากมีโรงแรมและรีสอร์ตนับพันแห่ง แต่ผลิตได้เองเพียง 30% เมื่อเข้าร่วมเครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์จึงได้รับองค์ความรู้ในการเพาะเห็ด การแปรรูปและการถนอมอาหาร อีกทั้งเขาเคยเป็นหัวหน้าพ่อครัว (เชฟ) ในโรงแรม จึงได้นำความรู้มาผสมผสานกัน