xs
xsm
sm
md
lg

รมต.วิทย์ชี้ภัยแล้งแก้ไม่ตกเพราะไม่บูรณาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ชี้ภัยแล้งแก้ไม่ตกเพราะในอดีตทำงานไม่บูรณาการ องค์ความรู้เรื่องน้ำของแต่ละส่วนไม่ถูกนำออกมาใช้ร่วมกัน และแก้ปัญหาแบบกระจุกตัว แต่ในรัฐบาลยุคนี้เน้นทำงานข้ามกระทรวง พร้อมดันผลงานหน่วยงานในกำกับสนับสนุนการแก้ภัยแล้งเชิงรุก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงตั้งคณะทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อสนับสนุนภารกิจแก้ภัยแล้งของรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 แนวทาง คือ 1.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์ 2.สนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหา และ 3.สนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่

ในส่วนสนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์นั้น ได้เทคโนโลยีการพัฒนาระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำไว้ในระบบเดียวและให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ และประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นปัจจุบัน

ข้อมูลที่นำเสนอผ่านระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำ ได้แก่ ข้อมูลเพื่อการติดตามสภาพอากาศ อาทิ เส้นทางพายุ ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเลและอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF Model) และข้อมูลเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางน้ำและระดับน้ำในลุ่มน้ำ

ด้านการสนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหานั้น สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอผลงานของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งร่วมกับ สสนก.พัฒนาเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ส่วนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำเสนอเครื่องกรองน้ำระบบน้ำไหลผ่านเส้นใยสังเคราะห์และเครื่องกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืดแบบรีเวิร์สออสโมซีส และให้บริการทดสอบเครื่องกรองน้ำดื่มและไส้กรองความขุ่นตามข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็วเป็นทีมงานนักวิทยาศาสตร์ที่พร้อมลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน เพื่อนำตัวอย่างมาทดสอบคุณภาพในห้องปฏิบัติการ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำเสนอพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงที่สามารถย่อยสลายได้จากแป้งมันสำปะหลังเพื่อรักษาความชื้นของดิน

ส่วนการสนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ สทน.นำเสนอเรื่องการนำองค์ความรู้ด้านไอโซโทปอุทกวิทยาเพื่อสามารถค้นหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ๆ แทนที่หรือสนับสนุนวิธีการเดิมที่ใช้การวัดน้ำฝน แม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำเสนอการจัดทำระบบแผนที่กลางเพื่อติดตามพื้นที่ภัยแล้งสนับสนุนการตัดสินใจและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมว่าไทยมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการน้ำมากมาย แต่เหตุใดประเทศไทยยังคงประสบภัยแล้งอยู่ตลอด ซึ่ง ดร.พิเชฐได้ชี้แจงว่า เหตุที่ปัญหาภัยแล้งในเมืองไทยยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกและเกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะการทำงานแบบแยกส่วน ในอดีตไม่มีการบูรณาการเท่าที่ควร ทำให้องค์ความรู้หรือศักยภาพการจัดการน้ำที่แต่ละหน่วยงานมีไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ร่วมกัน การแก้ปัญหาจึงกระจุกตัว แต่ในยุครัฐบาลปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์อชา นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันให้ทุกหน่วยงานทำงานข้ามกระทรวงกันมากขึ้น เพื่อให้มีข้อมูล และนักวิชาการที่มีความรู้รอบด้านสำหรับการแก้ปัญหาในระดับมหภาค ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคต

“มากไปกว่านั้นปัญหาภัยแล้งก็เป็นปัญหาจากธรรมชาติ ที่ไม่อาจคาดเดา แม้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีระบบคาดการณ์สภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง เพราะเหตุที่ทำให้เกิดภัยแล้งไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว ต้องมองระบบในมุมกว้างจึงจะแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญคือการปฏิบัติของประชาชนที่ในบางส่วนยังคงฝ่าฝืนข้อประกาศของรัฐบาล อย่างการงดปลูกข้าวในช่วงน้ำแล้ง แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางส่วนเดินหน้าทำต่อไปโดยไม่นึกถึงภาพรวมของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

นอกจากนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ยังถามอีกว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้โดยตรงอย่างฝนเทียมหรือไม่ เนื่องจากบางงานวิจัยทำเสร็จมาหลายปีแต่ยังไม่ได้นำไปใช้จริงในภาคประชาชน ซึ่ง ดร.พิเชฐเสริมตอบว่า แต่ละชุมชนต้องร่วมมือกันหาแนวทางบริหารจัดการน้ำของตัวเอง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการของรัฐบาล เพราะจะทำให้เกิดความหวงแหนและเข้าใจในสภาพทรัพยากรมากยิ่งขึ้น ที่จะทำให้ประชาชนรู้จักการประหยัดน้ำในที่สุด

“ในยุคของผม ผมเน้นการสร้างงานวิจัยที่สามารถใช้งานได้จริงมากกว่าอยู่บนหิ้งอยู่แล้ว เราเน้นการนำความรู้มาหาทางออกให้ประชาชน ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ภายในครู่เดียว ต้องอยู่ที่การวางระบบ ซึ่งเราหวังว่าเทคโนโลยี องค์ความรู้และนักวิจัยที่เรามีอยู่ จะเข้ามาช่วยในส่วนของข้อมูลที่ใช้สำหรับการเฝ้าติดตามน้ำมีความแม่นยำมาก ขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกนโยบายบริหารจัดการต่อไป และหากประชาชนสนใจนวัตกรรมที่กระทรวงวิทย์ฯ พัฒนาขึ้นก็สามารติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่หมายเลข 1313 เรามีหน่วยงานที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ชุดตรวจคุณภาพน้ำเคลื่อนที่พร้อมให้บริการประชาชนโดย วศ.
เครื่องกรองน้ำกร่อยเป็นน้ำเค็มด้วยระบบซิลเวอร์เซรามิกส์ฟิลเตอร์ เครื่องที่ 3ผลงานจากนาโนเทค สวทช.ถูกนำไปใช้แล้วในหลายสถานที่ที่ประสบปัญหาน้ำ เช่น โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา
เครื่องกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ผลงาน วว.
พอลิเมอร์อุ้มน้ำโดย สทน.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น