รู้ไหมว่า? ไทยมีเว็บไซต์บริการฐานข้อมูลน้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง พร้อมตั้งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีของคณะทำงานเชิงรุกของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อสนับสนุนการแก้ภัยแล้งของรัฐบาล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงตั้งคณะทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อสนับสนุนภารกิจแก้ภัยแล้งของรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 แนวทาง คือ 1.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์ 2.สนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหา และ 3.สนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่
ในส่วนสนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์นั้น ได้เทคโนโลยีการพัฒนาระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำไว้ในระบบเดียวและให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ และประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นปัจจุบัน
ข้อมูลที่นำเสนอผ่านระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำ ได้แก่ ข้อมูลเพื่อการติดตามสภาพอากาศ อาทิ เส้นทางพายุ ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเลและอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF Model) และข้อมูลเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางน้ำและระดับน้ำในลุ่มน้ำ
"สำหรับแผนที่ฝนแบบนี้เราพัฒนาร่วมกับกรมอุตุฯใช้มา 2 ปีแล้ว จะเด่นกว่าที่อื่นตรงที่เป็นการเอาข้อมูลทั้งส่วนของอากาศและสมุทรศาสตร์มา รวมกันซึ่งจะมีความแม่นยำกว่า เพราะการจะเกิดฝนได้นั้นเกิดจากการปะทะระหว่างลมในอากาศและลมเหนือทะเล ทำให้การคำนวณปริมาณฝนแม่นยำและคำนวณล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน แต่ก็ยังคงมีความคลาดเคลื่อนอยู่ การที่เราทราบข้อมูลที่แม่นยำจะช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการน้ำทำได้ดีขึ้น เช่น เรารู้ว่าวันนี้ฝนจะตก 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ทุกวันเราจะต้องปล่อยน้ำ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เราก็ปล่อยแค่ 23 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร และจากข้อมูลฝนที่เราพยากรณ์ได้พบว่า ช่วงนี้จะยังไม่มีฝนไปจนถึงช่วงปลายเดือน ก.ค. ผมจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำไว้ด้วย" ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผอ.ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสนก.เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
*******************************