xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ผุดวอร์รูมร่วมแก้ภัยแล้ง จัดแพคเกจช่วยเหลือเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวสถานการณ์ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาภัยแล้งในรูปแบบวอร์รูม สนับสนุนภารกิจรัฐบาลในการแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์ 2.สนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหา และ 3.สนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มอบหมายให้ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน และมีคณะทำงานมาจากผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดแพคเกจช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่พร้อมนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที ประกอบด้วย การพัฒนาระบบคลังข้อมูลสภาพน้ำ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำไว้ในระบบเดียวกัน ให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ และประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญที่นำเสนอผ่านระบบคลังข้อมูลน้ำ ได้แก่ ข้อมูลเพื่อการติดตามสภาพ อากาศ เช่น เส้นทางพายุ ภาพถ่ายดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเลและอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF Model) และข้อมูลเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางน้ำและระดับน้ำในลุ่มน้ำ
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้จัดทำระบบแผนที่กลางเพื่อติดตามพื้นที่ภัยแล้ง สนับสนุนการตัดสินใจและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ติดตาม วิเคราะห์ และตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการชี้เป้าพื้นที่สำคัญเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางเลือกเพื่อการ
แสวงหาแหล่งน้ำใหม่ให้กับชุมชน นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่เกษตรกรในการเลือกปลูกพืชเพื่อทดแทนข้าวจำพวกพืชล้มลุก ที่แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมของดิน สภาพฝนจากข้อมูลในอดีต แหล่งน้ำ แหล่งรับซื้อผลผลิตทั่วประเทศผ่านทาง “ระบบบูรณาการ การบริการแผนที่กลางของประเทศ” NGIS Map Portal ด้วย นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ยังได้ร่วมกับโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) พัฒนาเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วย เทคโนโลยีไส้กรองนาโนเพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำสายหลักที่กระทบต่อพื้นที่การเกษตรและระบบผลิตน้ำประปา เป็นต้น
“นอกจากจะบริหารจัดการน้ำและพื้นที่เพาะปลูกแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ขณะเดียวกัน สวทช. ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้งด้วย” นายพิเชฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น