ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรสวนยางตอบรับสารเคลือบจอกยางนาโน ม.อ. มุ่งต่อเป้าหมายโรงงานอุตสาหกรรม หลังรับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทดลองใช้แล้วหมดห่วงคุณภาพน้ำยาง ประหยัดเวลา แรงงาน ลดมลพิษ คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทกาญจน์ มุรศิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพลังงาน หรือ CENE มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนทุน “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อพัฒนาการใช้สารเคลือบผิวจอกยาง และภาชนะบรรจุน้ำยาง โดยใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถพัฒนากำลังการผลิต และบุคลากรเพื่อรองรับการนำใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ โดยเป็นการสนับสนุนทุนแบบให้เปล่า สำหรับผู้ประกอบการที่สามารถนำนวัตกรรมที่เกิดจากองค์ความรู้ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์นำมาทำประโยชน์ได้จริง
สารเคลือบผิวโดยใช้นาโนเทคโนโลยีดังกล่าว คิดค้นขึ้นโดย ดร.ฉลองรัฐ แดงงาม นักวิจัยทางด้านนาโนฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อนำมาใช้กับจอกยางแล้วทำให้น้ำยางไม่ติดผิว ทั้งยังสามารถเทออกจากจอกยางไหลลงภาชนะอื่นๆ ได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพึ่งพาไม้ปาดยาง ซึ่งนับเป็นการคิดค้นได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยบริษัทวอนนาเทค จำกัด ได้ขออนุญาตนำอนุสิทธิบัตรการเตรียม และกรรมวิธีการผลิตน้ำยาเคลือบผิวดังกล่าว เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเคลือบผิวจอกยาง และ “แล็กซ์ (Lax)” สำหรับเคลือบผิวภาชนะที่เกี่ยวข้องต่อกระบวนการแปรรูปน้ำยางพารา เช่น ถังบรรจุน้ำยาง ราง หรือท่อที่ต้องการให้น้ำยางไหลผ่าน โดยมีขั้นตอนการใช้งานที่ง่าย เช่น การพ่นเคลือบ การจุ่มเคลือบ โดยมุ่งการใช้ประโยชน์ทั้งกับเกษตรกร และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางพารา
ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอจุดเด่นของผลิตภัณฑ์จอกยางเคลือบนาโน จนได้รับความนิยมจากเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากช่วยลดความสูญเสียยาง ไม่ทำให้น้ำยางสดกลายเป็นยางแห้งเกรอะกรังติดจอกยาง น้ำยางมีความสะอาด และประหยัดเวลาในการรวบรวมน้ำยาง ในปัจจุบันสามารถผลิตจอกยางเคลือบนาโนได้สัปดาห์ละ 1,000 ใบ และกำลังเพิ่มการผลิตให้ได้ถึง 10,000 ใบในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคลือบนาโนดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับในวงการอุตสาหกรรม เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงในการผลิตสารจำนวนมาก และโรงงานไม่มีความมั่นใจในคุณสมบัติของสารเคลือบที่อาจกระทบต่อคุณภาพของน้ำยาง จึงขอความร่วมมือจากบริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำยางข้นในท้องถิ่น เพื่อใช้สารเคลือบนาโนสำหรับเคลือบผิวภาชนะที่เกี่ยวข้องต่อกระบวนการแปรรูปน้ำยางพารา เช่น ถังบรรจุน้ำยาง ราง หรือท่อที่ต้องการให้น้ำยางไหลผ่าน นับได้ว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในกระบวนการแปรรูปในโรงงานเป็นรายแรกของประเทศ
การนำใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับสูตรของสารเคลือบ ความเข้มข้นของน้ำยา ระยะเวลาการรอให้แห้ง เพื่อให้เหมาะสมต่อวัสดุที่ใช้ทำภาชนะ เพิ่มความทนทาน ยืดระยะเวลาการใช้งาน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้จากการนำไปใช้งานจริงในสภาพการ และพื้นที่จริงทั้งสิ้น การนำเข้าไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ใช่เพียงไปแล้วเคลือบน้ำยาแล้วกลับ แต่จะต้องไปสำรวจสภาพของวัสดุ ลักษณะของบ่อ ถังเก็บ อายุการใช้งาน เพื่อประเมิน และปรับสูตรของสารเคลือบต่อไป
“การใช้งานดังกล่าวปรากฏผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่ทำให้คุณภาพของน้ำยางเปลี่ยนแปลงแม้เก็บไว้เป็นระยะเวลานาน ลดการสูญเสีย ประหยัดเวลาและแรงงานในการทำความสะอาดภาชนะ สามารถลดมลพิษในสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้สารเคมีล้างภาชนะ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องต่อปัจจัยด้านราคายาง แต่เพื่อมุ่งหาวิธีว่าจะแก้ปัญหาของน้ำยางติดเกรอะกรังในภาชนะได้อย่างไร ซึ่งสุดท้ายพบว่า การผสานวิทยาการด้านนาโนเทคโนโลยี ฟิสิกส์ เคมี และวัสดุ สามารถแก้ปัญหานี้ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.นันทกาญจน์ กล่าวในที่สุด ผู้สนใจติดต่อที่สถาบันวิจัยความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพลังงาน หรือ CENE มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.0-7428-8766 หรือบริษัท วอนนาเทค จำกัด ผู้ขออนุญาตใช้สิทธิจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทร.0-7420-1371 หรือ 09-5534-2941