ชุบตัวขยะโรงงานน้ำตาล จากกากหม้อกรองไร้ประโยชน์สู่ไขอ้อยทำเงินด้วยเทคโนโลยีการสกัด ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ผุดผลิตภัณฑ์ไขอ้อยสารพัดประโยชน์เพิ่มมูลค่า เตรียมแทนที่การนำเข้าไขจากต่างประเทศ
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่น้อยหน้าชาติ และไทยยังเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และจัดเป็นผู้ส่งออกผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาลถึงปีละ 8 หมื่นล้านบาท
“มีโรงงานหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายแต่ละครั้งก็ให้ผลพลอยได้จำพวกกากตะกอนไร้ค่าที่ได้จากขั้นตอนการกรองน้ำอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล เกิดเป็นขยะจำนวนมหาศาลที่ส่วนมากนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้เพียงแค่ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจึงเข้ามาปรึกษากับนักวิจัยโดยตรงว่ามีวิธีหรือเทคโนโลยีใดบ้าง ที่จะทำให้กากหม้อกรองเหล่านี้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง” ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าว
จากการขอคำปรึกษาดังกล่าว นาโนเทคจึงได้สนับสนุนการศึกษาคุณสมบัติกากหม้อกรองเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการโดยตรง และเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดไขอ้อยจากกากหม้อกรองให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นตามความต้องการ
"เมื่อรู้ความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้การวิจัยเดินหน้าได้เร็ว ทีมวิจัยนาโนเทคใช้เวลาเพียง 1 ปีเพื่อศึกษาว่าในกากหม้อกรองยังทำประโยชน์อะไรได้อีกบ้าง ทำให้ทราบว่าไขอ้อยที่ได้จากการสกัดกากหม้อกรอง คือสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากแต่เรากลับมองข้ามมาโดยตลอด" ผอ.นาโนเทคกล่าว
ทางด้าน ดร.กิตติวุฒิ เกษมวงศ์ นักวิจัยนาโนเทค กล่าวว่า น้อยคนนักที่จะทราบว่าอ้อยมีไข เพราะคนส่วนใหญ่จะชินกับอ้อยปอกเปลือกพร้อมทาน หรือน้ำอ้อยมากกว่าอ้อยแบบมีเปลือก ซึ่งบริเวณเปลือกหรือผิวด้านนอกนี่เอง คือส่วนที่มีไขสะสมอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ หรือแตกหน่อและราก ซึ่งโครงสร้างหลักของไขเป็นเอสเทอร์ของกรดไขมันกับหมู่แอลกอฮอล์ที่มีหมู่ไฮดรอกซิลเพียงหมู่เดียว ที่มีจำนวนคาร์บอนตั้งแต่ 14 ถึง 36 อะตอม
ดร.กิตติวุฒิ ระบุว่า กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานจะนำต้นอ้อยมาสับทั้งเปลือก บดเพื่อให้ได้น้ำอ้อยหลังจากนั้นจึงนำมาต้มและเคี่ยว ก่อนที่จะกรองอีกครั้งและทิ้งไว้จนตกผลึกน้ำตาล ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้จะได้กากหม้อกรองเป็นของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำตาลซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนมากถึง 3 ล้านตัน เราต้องทำอะไรสักอย่างกับกากจำนวนนี้ ที่ไม่ใช่การทิ้งเปล่า
"เหมือนเราทิ้งเงินมาตลอดนะแบบไม่รู้ตัว เพราะอ้อยทุกๆ 1 ตันเมื่อนำมาผ่านกรรมวิธีทำน้ำตาลจะได้กากหม้อกรอง 30-40 กิโลกรัม ได้ไขอ้อย 3 กิโลกรัม ที่ถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่น้อยใจ” ดร. กิตติวุฒิ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
หลังจากนั้นทีมวิจัยนาโนเทคจึงดำเนินโครงการทดสอบประสิทธิภาพกากหม้อกรองโดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้ผลยืนยันว่ากากหม้อกรองมีประโยชน์อยู่มาก จึงนำมาสกัดเป็นแว็กซ์ หรือไขอ้อย ผ่านเทคโนโลยีการสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์แบบเหนือจุดวิกฤต เพื่อนำไขอ้อยและสารประกอบที่ได้มาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ
“เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการสกัดไขอ้อย เป็นเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่แล้วในการสกัดไขจากพืชอื่นๆ เช่น รำข้าว คาร์โนบา ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกันขึ้นกับวัตถุประสงค์ว่าจะสกัดไขไปใช้กับอะไร ต้องการสารประกอบแบบไหน ในต่างประเทศเท่าที่ทราบมายังไม่มีใครศึกษาเรื่องไขอ้อย หากมีงานวิจัยที่ดีและมีการนำไปต่อยอดใช้จริงในอุตสาหกรรมจะเป็นผลดีต่อวงการอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเป็นอย่างมาก เพราะกากหม้อกรองเป็นสิ่งที่เหลือใช้อยู่แล้ว" ดร.กิตติวุฒิกล่าว
ทางด้าน รศ.ดร. อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์ นักวิจัยนาโนเทค เผยในการประชุมว่า นำไขอ้อยที่สกัดได้มาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านอาหาร ในการเคลือบหมากฝรั่ง ลูกอมที่เป็นตัวช่วยในเรื่องของความเงางาม การยืดอายุอาหารและเป็นสารเพิ่มความหนืด ด้านความงามที่นำมาใช้ในการผลิตลิปสติก โลชัน ครีมทามือ ครีมบำรุงทาเล็บ ครีมบำรุงผม ทดแทนการใช้ไขมันอื่น เช่น ไขคาร์โนบา ไขผึ้ง หรือไขมันวัว เป็นต้น สามารถใช้เป็นวัสดุห่อหุ้มสารสำคัญในการออกฤทธิ์ทาง เครื่องสำอางเช่น การปลดปล่อยวิตามินในครีมบำรุงผิว
"สำคัญที่สุดคือ มีผลการวิจัยระบุว่าในไขอ้อยมีสารโพลีโคซานอล (Policosanol) อยู่ด้วย ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติลดความดันโลหิต ลดไขมันแอลดีแอล ลดไตรกลีเซอไรด์ ลดปริมาณคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือด และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ ซึ่งเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตเป็นอาหารเสริมไว้ใช้เองในประเทศ เนื่องจากสารโพลีโคซานอลในต่างประเทศมีราคาขายสูงถึงกิโลกรัมละ 20,000 บาท ซึ่งถ้าเราผลิตได้สำเร็จจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ประชาชนจะได้อาหารเสริมที่มีราคาสมเหตุสมผล ซึ่งในขณะนี้ตัวผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบในห้องปฏิบัติการ
*******************************
*******************************