นาโนเทคเปิดตัวโรงงานต้นแบบสิ่งทอนาโนแห่งแรกของไทย ที่จ.แพร่ ทุ่มงบประมาณเครื่องจักรกว่า 10 ล้านบาทเทียบเท่าอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบปลายเดือนส.ค
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า นาโนเทคมีความพร้อมในการเปิดให้บริการเคลือบผ้านาโนที่โรงงานต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ภาคเหนือ จ.แพร่แล้วกว่า 90 เปอร์เซ็น ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบปลายเดือนส.ค โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมพื้นบ้านของไทย ซึ่งมูลค่าของอุตสาหกรรมพื้นบ้านไทยในแต่ละปีจะมีมูลค่าการขายปีละ 5 พันล้านบาท ให้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าโดยรวมของสิ่งทอทั้งประเทศปีละกว่า 2 แสนล้านบาท โดยโรงงานต้นแบบที่จ.แพร่ ถือเป็นโรงงานต้นแบบสิ่งทอนาโนแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอทำมือพื้นบ้านให้ผู้ประกอบการมีรายได้และผลงานมีคุณสมบัติที่ดีและมีความแปลกใหม่เพิ่มขึ้น
“เป็นโอกาสที่ดีมากที่ทางวิทยาลัยเทคนิคแพร่ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้การสนับสนุนสถานที่ในการตั้งโรงงานต้นแบบรวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้อาจารย์และนักศึกษา มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผ้าทอพื้นเมืองให้ดีขึ้น นาโนเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้ผ้าทอพื้นเมืองด้วยคุณสมบัติต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะทำให้ผ้าเคลือบนาโนมีจุดแข็งและจุดขายที่หลากหลาย ในด้านของกำลังผลิตคาดว่าจะสามารถเคลือบนาโนผ้าผืนได้คราวละ 50 กิโลกรัม หรือประมาณสัปดาห์ละ1 หมื่นหลา หรือ 5 หมื่นหลาต่อปี ซึ่งรวมไปถึงผ้าเย็บสำเร็จรูปพวกเสื้อ กางเกง ปลอกหมอนก็สามารถนำมาเคลือบนาโนได้ ยกเว้นผ้าขนสัตว์ ป้าไหม หรือผ้าฃนิดที่ค่อนข้างบอบบางจะไม่สามารถเคลือบนาโนได้ โดยคุณสมบัติหลักของนาโน จะทำให้ผ้ามีผิวสัมผัสนุ่มลื่นไม่ยับง่าย มีกลิ่นหอม สะท้อนยูวีช่วยลดสีซีดจาง ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่น และสะท้อนน้ำจึงเปื้อนยากขึ้น ซึ่งน้ำยาเคลือบนาโนสูตรต่างๆที่นำมาใช้จริงในโรงงานล้วนแล้วแต่มาจากผลสำเร็จจากงานวิจัยของนักวิจัยจากนาโนเทคนั่นเอง” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว
ทางด้านนายบุญธรรม เกี้ยวฟั้น ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ จ.แพร่ กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคแพร่ไม่ได้สนับสนุนเพียงแค่การตั้งโรงงานเท่านั้น แต่จะมีศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการสิ่งทอนาโนซึ่งจะตั้งอยู่ด้านหน้าของวิทยาลัยอีกด้วย เพื่อเป็นจุดจำหน่ายซื้อขาย จัดแสดงผลงาน รับผ้าและสิ่งทอต่างๆ ในภาคเหนือ เพื่อมาเคลือบคุณสมบัตินาโนเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากผู้รับผิดชอบที่เป็นนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคแล้วนักศึกษาที่สนใจก็มีโอกาสเข้าร่วมฝึกงานและสมัครเข้าทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประจำได้ เป็นเหมือนการให้อาชีพแก่นักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญอีกทางหนึ่ง
ในส่วนของนักวิจัยผู้คิดค้นและพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบนาโนอย่าง ดร.วรล อินทะสันตา หัวหน้าห้องปฏิบัติการสิ่งทอนาโน ศูนย์นาโนเทค เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองมีความหลากหลายทางกายภาพ โครงสร้าง และการออกแบบ การเคลือบนาโนให้กับสิ่งทอแต่ละชิ้น ถือว่าเป็นกรณีศึกษาวิจัยและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการสิ่งทอ ที่มีความเชี่ยวชาญในการทอและการออกแบบ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วสิ่งทอนาโนกับผ้าไทยเป็นการรวมตัวกันของวิทยาศาสตร์และงานศิลปะพื้นบ้านอย่างลงตัว
“สำหรับผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง ข้อด้อยคือการบำรุงรักษา ดังนั้นคุณสมบัตินาโนเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างแรกคือ กันสะท้อนน้ำเพื่อให้เปื้อนยาก จากนั้นคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย99.99 % เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อนทำให้เกิดแบคทีเรียง่าย และคุณสมบัติสุดท้ายที่เหมาะสมกับผ้าไทยคือการป้องกันยูวี เนื่องจากผ้าทอมีทั้งย้อมธรรมชาติและเคมี ส่วนคุณสมบัติกลิ่นหอมนั้น เป็นฟังก์ชั่นเสริมที่เพิ่มเข้ามา ทำให้กลิ่นหอมนาน โรงงานต้นแบบสิ่งทอนาโนจึงเสมือนเป็นการเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยีนาโนและสิ่งทอให้เป็นกลายเป็นต้นแบบและเกิดการผลักดัน ทางเศรษฐกิจ สำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อม ถือเป็นการผลักดันงานจากห้องปฏิบัติ การ มาสู่การผลิตในระดับภาคสนามที่จะทำไปสู่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจต่อไป” ดร.วรลกล่าว
โดยภายในโรงงานจะประกอบไปด้วยเครื่องจักร 6 ชนิดที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย เครื่องย้อมผ้าขนาดความจุ 50 กิโลกรัม 1 เครื่อง เครื่องสลัดน้ำออกจากผ้า 1 เครื่อง เครื่องย้อมชิ้นเสื้อผ้า 1 เครื่อง เครื่องบีบอัดสารตกแต่งสำเร็จและตู้อบผ้า 2 เครื่อง เครื่องปั่นอบผ้าแห้งแบบแบบอุณหภูมิร้อน1 เครื่องและเครื่องตรวจผ้า 1 เครื่อง ซึ่งสมรรถนะของเครื่องจักรภายในโรงงานสามารถเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีการใช้พลังงานจากการหมุนใบพัดด้วยไอน้ำจากการให้ความร้อนด้วยแก๊ส ดร.วรล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์