xs
xsm
sm
md
lg

คืนความสุขให้นักวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ. พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือบอร์ด กวทช. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐ 11 คน ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน 11 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน

การกำเนิดของ สวทช. ก็เพื่อดำเนินการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีหน่วยงานในสังกัด 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับวัสดุต่างๆ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือนักวิจัยและบริษัทต่างๆในการนำผลงานการค้นพบและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

กว่าสองทศวรรษของ สวทช. ได้สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศไทยมากมาย เช่น วัคซีนลูกผสม เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ ครั้งแรกของโลก ที่เป็นผลงานของ BIOTEC เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินแบบรวดเร็วขนาดพกพา ผลงานวิจัยจาก NECTEC พันธุ์ข้าวใหม่ที่มีความทนทานต่อน้ำท่วมและเจริญเติบโตได้โดยไม่ใช้แสง ผลงานของ NANOTEC ที่เคยนำไปแสดงนิทรรศการถึงประเทศญี่ปุ่น และถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปริมาณขยะ เพิ่มโอกาสธุรกิจให้เกษตรกรผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยจาก MTEC

เป้าหมายสำคัญของ สวทช. คือการส่งมอบผลงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาจึงควบคู่กับการพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์ และการถ่ายทอด แพร่กระจายเทคโนโลยีจนไปถึงผู้ใช้ได้จริง ด้วยเหตุนี้ สวทช. จึงได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้งานจริงโดยนำความต้องการของหน่วยงานเป็นโจทย์ในการวิจัย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีภารกิจในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยมาตั้งแต่ปี 2545 มีเป้าหมายหลักในการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่ภายใต้งบประมาณที่ได้รับอย่างจำกัด สปสช. จึงต้องบริหารงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำยาล้างไตที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการมากขึ้นภายใต้วงเงินงบประมาณเท่าเดิม หรือการเพิ่มการเข้าถึงบริการสวนหัวใจที่เป็นผลจากราคาสายสวนหัวใจที่มีราคาถูกลงภายใต้คุณภาพและมาตรฐาน

เป้าหมายหลักของ สปสช. และ สวทช. ล้วนมุ่งไปที่ประเทศชาติและประชาชนไทย จึงเกิดแนวคิดในการนำจุดเด่นของทั้งสองหน่วยงานมาประสานกัน ปี 2557 สปสช. ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับ สวทช. ดำเนินงานโครงการนำร่อง “บริการเครื่องช่วยฟังไทยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยนำเครื่องช่วยฟังไทยที่ สวทช. พัฒนาขึ้นเองจนได้รับ CE Mark หรือเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป จำนวน 1,000 เครื่องไปให้บริการในโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพจำนวน 13 แห่ง

เครื่องช่วยฟังไทยที่ สวทช. พัฒนาขึ้น นอกจากจะมีคุณภาพและมาตรฐานสากลแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าเครื่องช่วยฟังในคุณลักษณะเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศเกือบครึ่ง และหลังจากดำเนินการโครงการนำร่อง ทำให้บริษัทเจ้าตลาดเดิม ยอมลดราคาจำหน่ายลงมาถูกว่าราคาที่ สวทช. ตั้งไว้ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นภายใต้งบประมาณเท่าเดิม นอกจากนั้นยังทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ได้ อย่างน้อยก็หนึ่งเรื่อง

เพื่อขยายความร่วมมือดังกล่าว สปสช. และ สวทช. จึงได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งบริหารผลงานวิจัยร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำผลงานวิจัยมาให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อมีโจทย์ในการวิจัยที่ชัดเจน และผลงานวิจัยได้มีการนำไปใช้งานจริง มีการนำผลงานวิจัยจากหิ้งลงมาสู่ห้าง สร้างความสุขให้กับนักวิจัยไทย เมื่อมีความสุข ก็จะมีผลงานวิจัยออกมาอย่างสม่ำเสมอ ประโยชน์ก็จะตกแก่ประเทศไทยของเราร่ำไป นั่นเองครับ
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น