สสนก.ร่วมกับ นาโนเทคเปิดตัวพร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพ เครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ณ ค่ายศรีโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งศูนย์นาโนเทค ได้พัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง โดยมีผู้แทนจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธโสธร และประชาชนตามแนวแม่น้ำบางปะกงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม เข้าชมผลงาน
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การ มหาชน) หรือ สสนก.ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ แถลงว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ถือว่ามีน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้อยสุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์น้ำน้ำทะเลหนุนสูงเนื่องจากคลื่นสูงในอ่าวไทยสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำทะเลที่หนุนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางะกง เข้ามาเร็วขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จากปกติจะมาในปลายเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า นำเค็มที่รุกเข้ามาแม่น้ำเจ้าพระยากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
นายรอยล กล่าวต่อว่า ถึงอย่างนั้น น้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงยังมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน คือ มีค่าความเค็มมากกว่า 2.0 กรัมต่อลิตร จึงส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาและเพื่อการเกษตร ดังนั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติน้ำเค็มรุก สสนก. ได้ ร่วมกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) ผลิตเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อย หรือ กรองน้ำเค็ม SOS t1 (System of salinity) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเค็มจากน้ำทะเลรุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำมีปริมาณน้อย ขณะที่ทาง สสนก. ก็ได้ติดตั้งระบบวัดน้ำเค็ม 3 จุด เพื่อตรวจสอบค่าความเค็มของน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ซึ่งจะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเป็นประจำทุกปี
ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการนาโนเทคกล่าวว่า เครื่อง SOS t1 ที่นักวิจัยนาโนเทคพัฒนา ประดิษฐ์ขึ้นนี้ สามารถกรองน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ โดยใช้เทคโนโลยีนาโน ผลิตไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงิน (Silver Impregnated Ceramic Filter) ซึ่งไส้กรองที่พัฒนาขึ้นนี้มีจุดเด่นในการยืดอายุการใช้งานของไส้กรอง (Reverse Osmosis) อาศัยหลักการกรองน้ำที่ใช้เมมเบรนฟิลเตอร์ (Membrane filter) ซึ่งมีรูพรุนเล็กมาก ดังนั้นโมเลกุลของน้ำเท่านั้นที่ผ่านเข้าไปได้ ทำให้ประสิทธิภาพการดักจับแร่ธาตุต่างๆ เช่น เกลือที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ของเครื่อง SOS t1 สามารถกรองน้ำกร่อยให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ มีกำลังการผลิตประมาณ 200 ลิตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญเป็นเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยเคลื่อนที่ได้เหมาะสำหรับการขนย้ายไปยังลุ่มน้ำต่างๆที่ประสบภาวะวิกฤติน้ำเค็ม
“นาโนเทคได้ เติมระบบกรองเข้าไปเพิ่มในเครื่องกรองน้ำกร่อย 1 ตัว เพื่อเสริมประสิทธิภาพการกรองน้ำกร่อย คือ ไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงินนาโน ที่มีความสามารถในการการฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ไม่ไปอุดตันที่ไส้กรอง ทำให้ใช้แรงดันน้ำน้อยลงในระบบกรองน้ำ จึงประหยัดพลังงานขึ้น อายุการใช้งานของไส้กรองประมาณ 6 เดือน สามารถกรองน้ำกร่อยได้ต่อเนื่อง 8-10 ชั่วโมง กำลังการผลิตปริมาณน้ำ 200 ลิตรต่อชั่วโมง หรือ 2,000 ลิตรต่อวัน เพียงพอต่อประมาณการบิโภคน้ำ ของประชาชน 1,000 คนต่อวัน” ผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทค ระบุ
ผอ.นาโนเทค กล่าวต่อว่า ในเร็วๆนี้ ศูนย์นาโนเทค จะพัฒนาระบบกรองน้ำกร่อยแบบถาวร เพื่อใช้ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวของน้ำเค็มมากๆ โดยใช้วิธีติดตั้งไส้กรองเซรามิกส์อนุภาคเงินเพื่อเสริมคุณภาพให้ระบบการกรองน้ำหลักที่มีอยู่แล้ว เช่น ในพื้นที่ของโรงพยาบาลที่อยู่ริมแม่น้ำ เช่น โรงพยาบาลพุทธโสธร เป็นต้น
ด้าน พญ.รุจิรัตน์ ปุณยลิขิต รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพุทธโสธร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีระบบกรองน้ำระบบอาร์โออยู่แล้ว โดยอาศัยน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มาผ่านระบบกรองของโรงพยาบาล แต่ช่วงที่น้ำเค็มมากๆ ก็อาจจะกระทบการใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาคบ้าง ทำให้โรงพยาบาลต้องระมัดระวังและตรวจการใช้น้ำ เพราะน้ำในระบบสาธารณสุขต้องมีคุณภาพสูงมากๆ เพื่อนำไปใช้ในการล้างเครื่อมือแพทย์ ใช้บริโภคด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น นำไปผลิตน้ำเกลือ หรือใช้ในหน่วยฟอกไต เป็นต้น ซึ่งก่อนการนำน้ำมาใช้ทุกครั้งโรงพยาบาลจะมีการตรวจคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานประจำอยู่แล้ว ทั้งนี้ระบบการกรองน้ำกร่อยที่จะใช้เทคโนโลยีนาโนมาผลิตน้ำกร่อยให้เป็นน้ำจืดก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ที่เพิ่มความมั่นใจและช่วยเสริมคุณภาพของระบบกรองน้ำแบบอาร์โอ ที่โรงพยาบาลมีอยู่ เนื่องจากไส้กรองเซรามิกอนุภาคเงินสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย