หวั่นเหตุการณ์น้ำเค็มรุกเจ้าพระยารอบใหม่ เหตุน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ และมีการทำนาปรังสูงกว่าแผน 2 เท่า เป็นเหตุน้ำจืดที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอผลักน้ำเค็ม เตรียมพร้อมให้หลักวิศวกรรมหน่วงน้ำเค็ม จัดเรือผลักดันน้ำและปฏิบัติการดึงน้ำจืดสู่เจ้าพระยา รอหน่วงน้ำทะเลหนุนเดือน พ.ค.นี้
ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ เผยถึงสถานการณ์น่าห่วงว่า แม่น้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาน้ำเค็มรุก ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบางช่วงมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานอุปโภค บริโภคและการเกษตร โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 57 ที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี วัดค่าความเค็มได้ 1.92 กรัมต่อลิตร ขณะที่มาตรฐานความเค็มของน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาต้องต่ำกว่า 0.25 กรัมต่อลิตร
สาเหตุของสถานการณ์น้ำเค็มรุกเจ้าพระยานี้ ดร.รอยลระบุว่า เป็นผลจากการที่น้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติในช่วงต้นปี และมีการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาสูงกว่าแผนถึง 2 เท่าตัว ทำให้ปริมาณน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำไปลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อยู่ในเกณฑ์ไม่พอที่จะผลักดันน้ำเค็มที่สูงกว่าปกติ เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องเก็บไว้อุปโภคและบริโภค
ในช่วงเดือน พ.ค. 57 นี้ทางคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ได้วิเคราะห์และคาดว่าสถานการณ์น้ำเค็มจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากจะมีน้ำเค็มจากอ่าวไทยหนุนสูงในช่วงดังกล่าว จึงมีแผนรับมือสถานการณื ดังนี้
- กรมชลประทานและการประปานครหลวง ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและคลองลัดโพธิ์ เพื่อหน่วงน้ำเค็ม และผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเสริมเพื่อเขือจางน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา
- กรมทางหลวงและกรุงเทพมหานคร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง โดยมีประสิทธิภาพในการสูบ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่คลองประปามหาสวัสดิ์ เพื่อสูบน้ำจืดลงสู่คลองปลายบาง ให้ไหลลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ
- กรมชลประทานบริหารประตูระบายน้ำฉิมพลี และประตูระบายน้ำยายส่อน ให้สอดคล้องกับน้ำทะเลหนุน
- กองทัพเรือติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 30 เครื่อง โดยแบ่งเป็นในคลองบางกอกน้อย 20 เครื่อง และในคลองมหาสวัสดิ์ 10 เครื่อง เพื่อเร่งส่งน้ำจืดในคลองมหาสวัสดิ์ สู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำลง
- คณะะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการ์ณน้ำและจัดสรรน้ำ ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเค็มอย่างใกล้ชิด และเก็บข้อมูล พร้อมคำนวณ เพื่อเสริมทางด้านวิชาการ
“เราใช้หลักวิศวกรรม สร้าง “มวลน้ำจืด” ไล่น้ำเค็ม โดยหลักการผลักดันน้ำคือ เพิ่มความเร็วให้น้ำ อาศัยจังหวะในช่วงน้ำขึ้น-น้ำลงผลักดันน้ำในลำน้ำ เอาน้ำจืดไปรวมที่เจ้าพระยา เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงก็ดันน้ำจืดเหล่านี้ขึ้นมา” ดร.รอยลอธิบาย