มองขยะเป็นโอกาส .. เปลี่ยนกากน้ำตาลเป็นสารนำส่งคุณค่าในเครื่องสำอาง ผลิตเป็นลิปสติก ครีมบำรุงเล็บชั้นดีจากไขอ้อย ของเหลือในกากหม้อกรองโรงงานน้ำตาล
เคยทราบกันหรือไม่ ? ว่าเครื่องสำอางที่ใช้แต่งสวยกันอยู่ทุกวันผลิตมาจากอะไร ? ลิปสติกหลากสีที่ ครีมบำรุงผิวที่มีคุณสมบัติช่วยให้ความชุ่มชื้นที่ใช้กันอยู่ในท้องตลาด ทำมาจากวัตถุดิบอะไร ? แล้ว “อ้อย” จะเข้ามามีบทบาทในวงการความงามนี้ได้อย่างไร ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จะพาไปหาคำตอบ
ภญ.ดร.อภิรดา สุคนธ์พันธุ์ นักวิจัยแห่งห้องปฏิบัติการนาโนเวชสำอาง ศุนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัตินุ่มลื่น จำพวกลิปสติก ครีมบำรุงผิว ครีมนวดผมมีส่วนประกอบของไขมันอยู่ ซึ่งไขมันที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจะเป็นไขจากธรรมชาติ ที่เป็นสารในกลุ่มลิพิด (lipid) ที่เป็นเอสเทอร์ของกรดไขมันดับแอลกอฮอล์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง มีจุดหลอมเหลวสูงและอยู่ในสถานะของแข็งเมื่ออยู่ที่อุณหภูมิห้อง
ไขส่วนมากที่ใช้นำมาจากไขของพืช เช่น ไขคาร์นูบาร์ (carnuba) จากปาล์ม ไขแคนเดลิลลา (candedila) ไขจากน้ำมันรำข้าว และไขสัตว์จำพวก ไขผึ้ง (bee wax) ไขจากวาฬ และเชลแล็ก (shellac) ภญ.ดร.อภิรดา ระบุ
ภญ.ดร.อภิรดา เผยว่า เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยทางตรงจากความต้องการของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่อยากให้กากอ้อยจากหม้อกรอง ที่เป็นของเหลือทิ้งปริมาณมากถึง 2 ล้านตันต่อปีจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ นำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติมแทนที่การนำไปทิ้ง
จากการวิจัยพบว่า มีสิ่งหนึ่งที่สามารถทำประโยชน์ และสามารถนำมาแทนที่การนำเข้าไขจากต่างประเทศได้ คือ “ไขอ้อย” ผลลัพธ์ที่ได้จากการสกัดกากหม้อกรองที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน
-ด้านการแพทย์ในการผลิตอาหารเสริมลดคลอเลสเตอรอล จากสารโพลิโคซานอล (Policosanol)
-ด้านอาหาร ในการผลิตเป็นสารเคลือบผิวอาหาร สารเพิ่มความหนืด
-ด้านการขัดเงา ในการผลิตแวกซ์ขัดรองเท้า เคลือบรถ เคลือบเฟอร์นิเจอร์
-ด้านอุปกรณ์ ในการผลิตไหมขัดฟัน สารเคลือบกระดาษ
และอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ไขอ้อยสามารถนำมาทำได้ คือ การผลิตเป็นเครื่องสำอาง
ดร.ชญานันท์ เอี่ยมสำอางค์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคกล่าวว่า การสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำเป็นต้องใส่สารจำพวกวิตามินเพื่อการบำรุงผิวลงไปในผลิตภัณฑ์แต่ข้อจำกัดของวิตามิน คือสลายตัวได้ง่าย ไม่มีความคงตัว ดังนั้นการจะนำวิตามินหรือสารบำรุงอื่นๆที่มีความคงตัวต่ำ จึงจำเป็นต้องใช้สารนำส่งที่มีคุณสมบัติเก็บกักวิตามินหรือสารสำคัญ และเพิ่มการออกฤทธิ์ของสารสำคัญเมื่อถึงเวลาได้
“คล้ายๆกับการส่งแก้วทางไปรษณีย์ แก้วมีความเปราะบางจึงจำเป็นต้องใช้กล่องบรรจุที่ดี เพื่อรักษาแก้วไว้ขณะขนส่งแต่ในขณะเดียวกันเมื่อถึงที่หมาย กล่องก็ต้องเปิดออกอย่างง่ายดายเพื่อให้ผู้รับได้รับแก้วโดยไม่ต้องออกแรงเปิดมากอีกด้วย ซึ่งหลักการเป็นการเปรียบเทียบง่ายๆให้เข้าใจหลักของ การนำส่งสารโดยนาโนเทคโนโลยี แบบนาโนสตรักเจอร์ ลิพิต แคริเออร์ (Nanostructured lipid carrier: NLC) คุณสมบัติที่สารนำส่งในผลิตภัณฑ์ความงามที่ดีต้องมี หรือที่อาจจะคุ้นหูกันว่ากระบวนการเอนแคปซูเลชัน (Encapsulation)” ดร.ชญานันท์ อธิบาย
จากการทดสอบเปรียบเทียบไขอ้อย กับไขคาร์นูบาร์ที่ใช้ทั่วไปในท้องตลาด ในการนำส่งวิตามินซีแบบ NLC พบว่า ไขอ้อยให้ผลไม่ต่างกับไขคาร์นูบาร์และมีความปลอดภัยสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางได้
“นอกจากการนำส่งสารสำคัญจะดีแล้ว การทดสอบความคงตัวและความนุ่มของไขอ้อยเปรียบเทียบกับไขคาร์บาร์ยังพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน อีกทั้งไขอ้อยยังมีความนุ่มมากกว่าไขคาร์นูบาร์อีกด้วย” ภญ.ดร.อภิรดา กล่าวเสริม
ภญ.ดร.อภิรดา ระบุว่า ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาต้นแบบเครื่องสำอางออกมาเป็น 2 ผลิตภัณฑ์คือ ลิปสติกในรูปแบบลิปบาล์มบำรุงฝีปาก และครีมบำรุงเล็บที่ใช้ไขอ้อยแทนไขคาร์นูบาร์ ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดเป็นรูปแบบของลิปสติกสีและผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขณะทำการวิจัย ยังไม่มีขายทั่วไป โดยทางสวทช.จะมีการขยายความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจ และอุตสาหกรรมที่เข้ามาติดต่อ เพื่อให้ไขอ้อยเป็นที่รู้จักของตลาด นำไปสู่การใช้ในวงกว้างเพื่อแทนที่ไขนำเข้าอย่างคาร์นูบาให้เม็ดเงินการนำเข้าลดลง
“ขณะนี้ไขอ้อยยังไม่เป็นที่นิยมของตลาดมากนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตไขอ้อยจะเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นประเทศส่งออกอ้อยอันดับต้นๆของโลก ที่นอกจากจะช่วยลดขยะ เพิ่มรายได้แล้วยังเป็นการลดการนำเข้าไขจากต่างประเทศอีกด้วย” ภญ.ดร.อภิรดา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************