xs
xsm
sm
md
lg

“ยาเคมีบำบัดนาโน” ลดผลข้างเคียงคีโม เข้าถึงเซลล์มะเร็งเพิ่ม 10 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิจัยพบพัฒนา “ยาเคมีบำบัดระดับนาโน” ช่วยยาตรงเข้าสู่มะเร็งเป้าหมายมากกว่าเดิม 10 เท่า เหตุโมเลกุลใหญ่กว่าช่องว่างเส้นเลือด ป้องกันยาหลุดรอดไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยลดผลข้างเคียงการทำคีโม ไม่ต้องให้ยาจำนวนมาก เผยยาที่ไม่ห่อหุ้มตัวนำส่งระดับนาโนไปถึงเซลล์มะเร็งแค่ 10%

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) บรรยายเรื่อง “การวิจัยนำส่งยารักษามะเร็งโดยใช้เทคนิคทางนาโนเทคโนโลยี” ในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 12 จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างวันที่ 19 - 21 พ.ย. ว่า จากการวิจัยพบว่าการให้ยาเคมีบำบัด (คีโม) เพื่อรักษามะเร็งนั้น ตัวยาไปถึงเซลล์มะเร็งเพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือหากไม่ถูกกำจัดโดยไต ก็จะหลุดรอดออกไปตามช่องว่างของเส้นเลือด ซึ่งช่องว่างเหล่านี้มีขนาด 1 นาโนเมตร แต่ยามีขนาดเล็กกว่านี้มาก ทำให้ยากระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เวลาได้รับยาเคมีบำบัดแล้วเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา และต้องใช้ยาในปริมาณที่มากเพื่อให้ยาไปถึงเซลล์มะเร็งเป้าหมายเพิ่มขึ้น จึงมีการพัฒนาโดยนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการนำส่งยาให้ไปสู่เซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมาย

ดร.ธีรพงศ์ กล่าวว่า กระบวนการสร้างเซลล์มะเร็งจะมีกระบวนการสร้างเส้นเลือด (Angiogenesis) ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เส้นเลือดมีช่องว่างขนาดใหญ่กว่าปกติคือประมาณ 100 นาโนเมตร ดังนั้น หากมีตัวนำส่งยาในระดับนาโนคือ 10 - 100 นาโนเมตร มาหุ้มตัวยาเอาไว้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ยาหลุดกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่ตรงไปยังเซลล์มะเร็ง ซึ่งสารที่นิยมใช้กันมากคือ ลิโพโซม (Liposome) โดยปัจจุบันมีการพัฒนาออกแบบให้ตัวนำส่งยานี้พายารักษามะเร็งไปถึงเซลล์มะเร็งได้รวดเร็วขึ้น โดยการหาความจำเพาะของเซลล์มะเร็ง เช่น แอนติบอดีที่จำเพาะต่อแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง เป็นต้น มาช่วยเหนี่ยวนำให้ตัวนำส่งยาพายาไปยังเซลล์มะเร็งได้เร็วขึ้น รวมไปถึงดีไซน์ให้มีคุณสมบัติที่ช่วยให้รอดพ้นจากระบบการทำลายของร่างกาย และตัวนำส่งยาสามารถสลายตัวเพื่อปล่อยยาออกมาหลังไปถึงเซลล์มะเร็งแล้วมีสิ่งมากระตุ้น เช่น ยิงความร้อนบริเวณที่เป็นมะเร็ง เพื่อให้ความร้อนไปทำให้ตัวนำส่งยาสลายตัวและปลดปล่อยยาออกมา เป็นต้น

ตัวนำส่งยาที่มีขนาดระดับนาโนและมีการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ ช่วยให้ยาไปถึงเซลล์มะเร็งเร็วขึ้นและมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยา แต่ตัวยาจะไปสู่เซลล์มะเร็งเร็วขึ้นและมากขึ้นเท่าไรนั้นไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ เพราะยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติต่างกัน ใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่โดยกระบวนการแล้วมีความเร็วกว่าและช่วยให้ยาเข้าถึงเซลล์มะเร็งมากกว่าแน่นอน ซึ่งสุดท้ายคงต้องรอการวิจัยยาแต่ละตัวว่าใช้เวลาเท่าไร และเมื่อวิจัยสำเร็จแล้วก็จะมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนขึ้น โดยขณะนี้ก็มียาที่สำเร็จแล้วหลายตัว และยังมียาที่อยู่ในช่วงของขั้นการทดลองในสัตว์และในคนอีกด้วย” นักวิจัยนาโนเทค กล่าว

ดร.ผ่องพรรณ ศิริพงษ์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้างานวิจัยสมุนไพร กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันฯ ยังไม่มีการนำยารักษามะเร็งในรูปของนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษา แต่ยังอยู่ในช่วงของการวิจัยในสัตว์ทดลอง ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยาที่มีการหุ้มด้วยลิโพโซม ซึ่งตัวนำส่งยานั้น และกับยารักษามะเร็งที่ไม่มีการหุ้มพบว่า ยาที่หุ้มด้วยลิโพโซมใช้ปริมาณยาน้อยกว่า แต่ยาตรงไปถึงเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายมากกว่าถึง 10 เท่า และลดผลข้างเคียงจากยาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังวิจัยไม่ให้ลิโพโซมไปสะสมและถูกทำลายในตับ เพื่อให้กระจายไปยังเส้นเลือดและตรงไปยังเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังวิจัยสารสกัดจากสมุนไพรด้วย เนื่องจากหลายตัวมีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้ และมีการนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายหลายรูปแบบ แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับว่าสารใดในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการทำลายมะเร็ง จึงมีการวิจัยในเรื่องนี้ ซึ่งหากสำเร็จในระดับหลอดทดลอง ก็จะทดลองในสัตว์ทดลองด้วยการหุ้มด้วยลิโพโซม เพื่อให้สารสกัดจากสมุนไพรไปยังเซลล์มะเร็งได้เร็วและมากขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น