ASTVผู้จัดการ - ก.วิทย์ จัดเต็มนิทรรศการ ครม. สัญจร โชว์ใช้แผนที่ดาวเทียมบริหารจัดระเบียบพื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำ ภัยพิบัติ ความมั่นคง พร้อมประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์แห่งอาเซียน เชื่อมโยงท้องฟ้าทั่วโลก
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งที่ 2 ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการ นำเสนอผลงานที่แต่ละกระทรวงจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำเสนอเทคโนโลยี ระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดเชิงพื้นที่ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และ ระดับท้องถิ่น ครอบคลุมด้านการเกษตร ในการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูก วางผลิตและแปรรูป ตลอดจนติดตามการเพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิตพืชเศรษฐกิจในและต่างประเทศ ด้านภัยพิบัติ ในการติดตาม วิเคราะห์ และป้องกันพื้นที่ประสบภัยทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า และมลพิษต่างๆ ด้านความมั่นคง ในการติดตามพื้นที่บริเวณชายแดน ติดตามพื้นที่เพาะปลูกยาเสพติด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ บริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรน้ำ ด้านผังเมือง ในการวางผังเมือง การเก็บภาษีการใช้ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง บริหารจัดการสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นที่ที่จำเป็น
นอกจากนี้ ยังนำเสนอระบบสืบค้นและบริการภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่มีการบูรณาการแผนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายกระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิสารสนเทศของประเทศ ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อกำกับ ติดตามและวางแผนการทำงานในอนาคต และพร้อมที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลหอดูดาวแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ จึงได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย โดยได้นำเสนอภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาและการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์เพื่ออนาคต หนึ่งในนั้น คือ หอดูดาวแห่งชาติ หรือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ณ จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ยังมีหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน อีก 5 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และ ขอนแก่น แห่งแรกเปิดให้บริการแล้วเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และแห่งที่สองก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560 คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา รวมถึง เครือข่ายกล้องโทรทัศน์ทางไกลอัตโนมัติของ สดร. ที่ตั้งอยู่ ณ ชิลี จีน ออสเตรเลีย และ เม็กซิโก เชื่อมต่อท้องฟ้ารอบโลกให้คนไทยศึกษาเรียนรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และท้ายสุดกับการเปิดตัวอุทยานดาราศาสตร์ (Astro Park) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์รวมศิลปวิทยาการและนวัตกรรมดาราศาสตร์ของอาเซียน ขยายเครือข่ายเชื่อมต่อกับนานาประเทศทั่วโลก โดยเราคาดหวังว่าหากอุทยานดาราศาสตร์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เชียงใหม่จะเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้