xs
xsm
sm
md
lg

เจ้ากระทรวงวิทย์ชูดาราศาสตร์-อวกาศผลงานโบว์แดงฉลองนั่งเก้าอี้ 6 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เจ้ากระทรวงวิทย์ชูเทคโนโลยีอวกาศ-ดาราศาสตร์เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงฉลองนั่งเก้าอี้ครบ 6 เดือน ชี้นายกพอใจงานวิจัยเชิงพาณิชย์เตรียมดันนวัตกรรม วทน.สู่การตลาดภาครัฐ เปรียบการบริหารกระทรวงวิทย์เหมือนมหาวิทยาลัย ใช้วิธีสั่งปนขอร้องบริหาร 14 หน่วยงานภายใต้กระทรวงฯให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า 6 เดือนที่ผ่านมามีการปฏิรูปหลายๆ อย่างในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่การบูรณาการ 14 หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้เกิดการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการกำหนดหัวข้อร่วมกัน เช่น การวิจัยเชิงพาณิชย์การพัฒนากำลังคน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรธรรมชาติ การจัดตั้งจุดรับบริการภาคประชาชน (one-stop service) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการบริการจากหน่วยงานบางส่วนของกระทรวงวิทย์ฯ ได้ง่ายมากขึ้น

ดร.พิเชฐกล่าวว่านอกเหนือจากการบริหารหน่วยงานภายในกระทรวงให้เป็นเนื้อเดียวกัน ชุดทำงานของเขายังได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างงานวิจัยจากงานวิจัยระดับพื้นฐาน ให้เป็นการวิจัยเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมามีผลงานวิจัยดีๆ ที่อยู่บนหิ้งไม่ได้รับการสานต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปฏิรูปงานวิจัยเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำและให้การสนับสนุนมาโดยตลอด จนเกิดเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรม เพื่อดูแลการนำนวัตกรรมไปใช้และส่งเสริมให้เกิดการค้าขายกับภาครัฐ เพื่อให้เอกชนที่นำนวัตกรรมไปใช้เกิดรายได้ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาสนใจกับนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยหน่วยงานในกระทรวงวิทย์ฯ มากยิ่งขึ้น

"กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีโครงสร้างกระทรวงที่แปลกไปจากที่อื่น คือมีหน่วยงานที่เป็นหน่วยของราชการเพียงแค่ 2 หน่วย ในขณะที่อีกกว่า 10 กว่าหน่วยงานเป็นองค์กรอิสระที่มีผังผู้บริหารเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ถือเป็นข้อดีที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างอิสระและมีความคล่องตัว ผมในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงต้องบริหารงานกระทรวงคล้ายกับการทำงานของมหาวิทยาลัย ที่อธิการบดีจะเป็นผู้ชี้แนะว่าสิ่งไหนควรทำ หรือสิ่งไหนควรทำก่อนที่ถือเป็นการทำงานแบบขอความร่วมมือควบคู่กับการสั่งการด้วยเพราะส่วนโดยส่วนตัวถึงจะได้รัฐมนตรีมาด้วยวิธีพิเศษแต่ก็มีอำนาจในการสั่งการได้เช่นกัน เพื่อให้งานจากหน่วยงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนปัจจุบันกล่าว

รมว.พิเชฐ กล่าวว่าผลงานนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์มีกว่า 40 รายการ อาทิ รถตัดอ้อยฝีมือคนไทย, เสื้อเกราะกันกระสุน, เวชภัณฑ์และเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ, ชนิดพันธุ์ยางพารา และการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้ง ทนแมลง และอื่นๆ อีกมากมายที่หน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่นวัตกรรมเหล่านี้ได้รับการต่อยอดและเป็นที่รู้จักในสังคม เพราะหากพูดถึงนวัตกรรมฝีมือคนไทยในอดีตที่แล้วมา จะเป็นสิ่งปกติที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่สำหรับวันนี้ผลงานวิจัยได้ถูกต่อยอดออกไปสู่การใช้จริงและมีการซื้อขายในวงกว้าง

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้กล่าวถึงผลการทำงานที่เป็นรูปธรรมในรอบ 6 เดือนของเขาด้วยว่ามีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างของสังคมอยู่ 2 ชิ้น ได้แก่ การเข้ามาให้ความสำคัญและยกระดับโครงการอวกาศ ที่ทำใหำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ที่เป็นองค์กรที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีกระดับและสนับสนุนให้ สทอภ.ซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยนำประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้สนับสนุนการทำงานของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทยสำหรับงานด้านความมั่นคง กระทรวงการคลังสำหรับงานด้านภาษีและที่ดิน กรมป่าไม้สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวทางธรรมชาติ ตลอดจนการติดตามภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ

ส่วนผลงานที่เจ้ากระทรวงวิทยาศาตร์ฯ ชูว่าเป็นชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นในยุคของเขา คือโครงการสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยระบุว่าเป็นโครงการที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่หวังผลสูง โดยการนำดาราศาสตร์เข้าถึงภาคประชาชนผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน โดยการสนับสนุนการอบรมบุคลากร อุปกรณ์การสอน และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในทุกจังหวัดเข้าถึงดาราศาสตร์ได้อย่างทั่วถึง เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับแนวหน้าของอาเซียนที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาขณะเข้ารับตำแหน่ง ก็ได้มีการเปิดตัวหอดูดาวแห่งชาติ และหอดูดาวภูมิภาคโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ขึ้นหลายแห่งทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งข้อมูลทางด้านดาราศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของอาเซียน

"ถึงไทยจะมีไทยโชต แต่เวลาจะใช้จริงเราต้องใช้ดาวเทียมถึง 20 ดวง เพราะลำพังไทยโชตดวงเดียวมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราได้หารือเพื่อหาลู่ทางลงทุนสำหรับดาวเทียมดวงใหม่ ที่จะพยายามให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างดาวเทียมจากประเทศผู้ผลิตเพื่อให้ในอนาคตเกิดดาวเทียมฝีมือคนไทยเองด้วย นอกจากนี้ดาราศาสตร์ก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไทยไม่แพ้ชาติใด เรามีหอดูดาวแห่งชาติ มีหอดูดาวภูมิภาค มีกล้องโทรทรรศน์ตั้งอยู่ที่ชิลีและกำลังจะไปตั้งที่ประเทศจีน ซึ่งผมเชื่อว่าดาราศาสตร์และเรื่องราวด้านอวกาศนี่แหละที่จะทำให้เยาวชนร้อง "ว้าว!" และอยากก้าวเข้ามาในแวดวงวิทยาศาสตร์ น่าจะเป็นกุศโลบายให้เยาวชนมีความตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ดีที่สุด" ดร.พิเชฐไล่เรียงถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศและดาราศาสตร์






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น