xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...กาแฟรสชาติดีขึ้นเมื่อปลูกใต้ไม้ใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาแฟอาราบิกาภายในสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดที่ปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่
ปกติกาแฟอาราบิกาที่หอมกรุ่นต้องปลูกในพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น แต่จากการทดลองของ "สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด" พบว่าการปลูกกาแฟใต้ต้นไม่ใหญ่ช่วยลดอุณหภูมิได้เหมือนปลูกบนที่สูง

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ไปเยี่ยมชมการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาภายในสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ระหว่าง การเดินทางไปราชการของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับปรุงการผลิตกาแฟโดยเฉพาะกาแฟทางภาคเหนือให้ก้าวหน้าขึ้น

ดร.พิเชฐระบุว่า จากการหารือพบว่าทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตรฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานของโครงการหลวงเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว จึงได้หารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโครงการหลวง นักวิชาการ และชาวบ้าน เพื่อรับทราบถึงรายละเอียดในการผลิตกาแฟอาราบิกา ก่อนนำข้อมูลไปหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้ สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดเป็นศูนย์ปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิกา และเน้นการปรับปรุงพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิม ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของกาแฟ โดยได้พันธุ์กาแฟลูกผสมต้านทานราสนิมจากโปรตุเกสจำนวน 28 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ขอและนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2517 และปัจจุบันได้เป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟและต้นกล้าคุณภาพ

จากรายงานโดยนักวิจัยในโครงการปรับปรุงพันธุ์กาแฟอาราบิกา ทางสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดได้ทดลองปลูกกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ที่ใบไม่หนาทึบ ช่วยลดอุณหภูมิลง 2-3 องศาเซลเซียส ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในแปลงกาแฟไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ทำให้ผลกาแฟสุกแก่ช้าลง ส่งผลให้กาแฟมีรสชาติดีขึ้น เทียบเท่ากาแฟที่ปลูกในพื้นที่สูงเกิน 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แม้ว่าสถานีวิจัยสูงเพียง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ด้าน ดร.ชนะ พรหมทอง นักวิจัยอาวุโส วว.ผู้ร่วมวิจัยกับโครงการหลวง อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ เพิ่มเติมว่า กาแฟอาราบิก้าปลูกได้ในพื้นที่สูงกว่า 600 เมตรขึ้นไป โดยรสชาติของกาแฟ 60% ขึ้นอยู่กับกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งสิ่งสำคัญหลังขัดเปลือกออกต้องล้างเมือกกาแฟภายใน 24 ชั่วโมง แล้วนำไปตากเป็น "กาแฟกะลา" ก่อนนำไปคั่วต่อไป

ส่วน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. เสริมว่ารสชาติกาแฟของไทยถูกจัดอยู่อันดับ 19 ของโลก ขณะที่เวียดนามอยู่อันดับ 5 อินโดนีเซียอยู่อันดับ 3 และกาแฟโคลัมเบียมีรสชาติดีที่สุด ส่วนลาวถูกในจัดอยู่ในอันดับสูงกว่าไทย

"ทีมวิจัยของสถาบันฯ ได้เข้ามาช่วยพัฒนาการผลิตกาแฟในโครงการหลวงหลายสิบปีแล้ว โดยช่วยในเรื่องการเพิ่มผลผลิต การเก็บเกี่ยว การทำกาแฟกะลา การกระเทาะกะลากาแฟ การอบแห้งและการคั่วกาแฟ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ร่วมกับโครงการหลวงอย่างการวิจัยเห็ดเมืองหนาวและการผลิตวานิลลา ซึ่งทำได้เป็นที่เดียวในประเทศไทย" นายยงวุฒิ

ทั้งนี้ มีการส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาป่าธรรมชาติ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง โดยส่งผลิตเข้าโครงการหลวง แต่นายอภิสิทธิ์ อุ่นพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์เผยถึงปัญหาของเกษตรกรว่า ป่าเมี่ยงหลังช่วงเก็บเกี่ยวมีความชื้นสูง ส่งผลต่อการทำกาแฟกะลาเพื่อส่งไปคั่ว โดยเคยใช้เครื่องอบไฟฟ้าแต่มีค่าใช้จ่ายสูงจึงเลิกใช้ไป และตอนหลังหันมาตากในโรงเรือนพลาสติกเพื่อกันฝนและความชื้นจากน้ำค้าง แต่ยังใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งกาแฟกะลาที่ส่งขายได้ต้องมีความชื้นไม่เกิน 7%

ด้าน ดร.พิเชฐกล่าวอีกว่า นายกให้ความสำคัญในเรื่องกาแฟโดยเฉพาะอาราบิกา เนื่องจากตลาดผู้บริโภคกาแฟเพิ่มมากขึ้น และยังมีการส่งออก อีกทั้งประเทศข้างเคียงปลูกกาแฟเข้ามาตีตลาด ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนากาแฟอาราบิกาของไทยทำได้ดีจนสามารถต้านทานราสนิมได้ แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์สนับสนุนทางเทคโนโลยีได้
 
"อาจใช้ความรู้ทางด้านโมเลกุลเพื่อดูสายพันธุ์กาแฟให้ชัดเจน เหมือนการใช้เครื่องหมายพันธุกรรมในข้าวหอมมะลิ โดยจะประสานนักวิจัยในสถาบันการศึกษาและการวิจัย และเทคโนโลยีวัสดุที่ช่วยให้การคั่วเมล็ดกาแฟมีคุณภาพสูงขึ้น มาตรฐานการผลิตที่สามารถส่งออกได้ เรื่องการสร้างแบรนด์ของไทยที่ชัดเจนขึ้น ข้อมูลที่ได้จะนำไปประสานงานกับกระทรวงเกษตร โดยกระทรวงวิทย์จะเน้นการพัฒนาระบบด้วยเทคโนโลยี" ดร.พิเชฐกล่าว
เมล็ดกาแฟที่ตากด้วยวิธีดั้งเดิม
กาแฟกะลาก่อนผ่านการคั่ว

ดอกตูมของกาแฟระหว่างรอแตกดอกเมื่อเจอ ฝนแรก
ผลกาแฟที่สุกใกล้เคียงกัน
แปลงอนุบาลต้นกล้ากาแฟ
ต้นกล้ากาแฟ
นักวิจัยโชว์ใบต้นกาแฟที่เป็นโรคราสนิม
ต้นกาแฟที่เป็นโรคราสนิมจนใบส่วนใหญ่ร่วง
ต้นกาแฟติดโรคราสนิม
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว.
ดร.พิเชฐเยี่ยมชมเครื่องกระเทาะเปลือกกาแฟ






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น