xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จับมือแหล่งสินเชื่อหนุน SMEs ทำธุรกิจนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน
สวทช.จับมือแหล่งสินเชื่อหนุน SMEs ทำธุรกิจนวัตกรรม พร้อมผลักดันเข้าถึงแหล่งทุน ด้าน บยส.แหล่งสินเชื่อรายย่อยเผยเสนอโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายย่อย 2,000 ล้านบาท

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานภาครัฐ ยกระดับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารปลัดกระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธานในพิธี

นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Economy) การพัฒนารูปลักษณ์สินค้าตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่นและได้เปรียบกลุ่มคู่แข่งในช่องทางการตลาดเสรี

"การอำนวยความสะดวกด้านแหล่งเงินทุน และการเข้ามาสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และประคับประคองให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของประชาชนเดินหน้าต่อไปได้ จึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สร้างรายได้มวลรวมให้แก่ประเทศปีละมหาศาล และในทางตรงกันข้ามก็มียอดคงค้างของสินเชื่อเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลด้วย" นายญาณศักดิ์กล่าว

นายญาณศักดิ์ กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอีเปรียบเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจในประเทศ เพราะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากถึง 2 ล้าน 5 แสนราย คิดสัดส่วนเป็น 37.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) สร้างมูลค่าให้กับประเทศมากถึง 4.5 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% ของสินเชื่อรวม ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเอสเอ็มอียังมียอดคงค้างราว 4.4 ล้านล้านบาท เขาจึงมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ

ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ระบุว่าความร่วมมือในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการประชุมของผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลภาระงานทางด้านเอสเอ็มอีที่ บสย.ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานด้านค้ำประกัน จากประเทศเกาหลีมาบรรยายให้ความรู้ในช่วงปลายปี 2557 ซึ่งมีข้อสรุปว่าการจะขับเคลื่อนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงแหล่งทุน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเกิดเป็นการหารือระหว่างผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่อยากจะเห็นความร่วมมือระหว่างกันขึ้นเพื่อเพิ่มขีดจำกัดให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย

นายวัลลภ เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ บสย.ได้นำเสนอโครงการค้ำประกันเพื่อผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นวงเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงการคลัง และจะผลักดันให้เกิดกลไกและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งทางด้านระบบค้ำประกันสินเชื่อ, การสนับสนุนทางการเงิน, การร่วมลงทุน, ระบบการประเมินมูลค่าเทคโนโลยี และทางด้านอื่นๆ ที่จำเป็น นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือโครงการศึกษาวิจัยเพื่อผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับผู้ประกอบการรายย่อยในต่างประเทศอีกด้วย

ในส่วนของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำความโดดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน มาสานต่อภารกิจที่ตอบโจทย์ของประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุน โดย สวทช.จะเข้ามาดูแลและผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการแข่งขัน รวมทั้งคัดกรองผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังอาจทำให้มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เนื่องจาก สวทช. มีหน่วยงานให้บริการและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงการลงทุนต่างๆ เช่น การสนับสนุนการบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและฝึกอบรมทางธุรกิจ รวมถึงการหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการ ตลอดจนการให้บริการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอกชน และการรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อหักลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยได้เป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ผอ.สวทช.เผย

“สวทช.จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีตามที่ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องการ เช่นบางรายอยากพัฒนาด้านการคิดค้น แนวคิดผลิตภัณฑ์ หรือการวิจัย บางรายอยากพัฒนาในเรื่องของสูตรหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บางรายอยากพัฒนาบุคลากร หรืออยากให้เราสรรหาบุคลการผู้มีความเชี่ยวชาญไปเป็นที่ปรึกษาให้เราก็ทำได้ เพราะสวทช.มีองค์ความรู้ บุคลากร ตลอดจนสถานที่ที่ค่อนข้างพร้อมสำหรับการให้บริการในทุกๆ ด้าน โดยผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์ได้ว่าอยากได้ว่าอยากให้ สวทช.สนับสนุนในรูปแบบไหน ทั้งด้านการจัดอบรม การทำวิจัยร่วม การสรรหาบุคลากร โนว์ฮาว หรือการบอกโจทย์วิจัยมายัง สวทช. เพราะก่อนหน้านี้ สวทช.เองได้ใช้งานวิจัยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในด้านต่างๆ จนประสบความสำเร็จมากถึง 2,000 ราย จึงค่อนข้างมั่นใจว่าการเข้ามาร่วมมือกับ บยส.ในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจไปอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน” ผอ.สวทช. กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ซ้ายสุด) และนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยาน (ขวาสุด)
ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ (ซ้าย) ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล  (ขวา)






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น