รัฐมนตรีวิทย์เผยผลที่ได้รับหลังไปร่วมงานแสดงผลงานด้านนาโนเทคโนโลยีที่โตเกียว ทึ่งญี่ปุ่นผลิตวัสดุยืดหยุ่นรับแรงสะเทือนแผ่นดินไหว แจงได้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นมอบทุนให้ไทย 2 ทุนได้ไปเยือนสถาบันพัฒนานโยบายญี่ปุ่น ฝากโจทย์เอสเอ็มอีแดนปลาดิบมาลงทุนในไทยส่งผลกระทบหรือไม่ พร้อมเผยได้ชมนวัตกรรมรถยนต์เติมไฮโดรเจนที่ใช้งานจริงบนท้องถนน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงผลจากการไปเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค.58 ที่ผ่านมาว่า การเดินทางดังกล่าวได้เดินทางไปร่วมงาน “นาโนเทค 2015” (Nanotech) ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และยังได้รับเชิญให้ไปกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยภายในงาน รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทย
หลังจากมาประเทศไทย ดร.พิเชฐระบุว่า ได้รับอีเมลจากญี่ปุ่นที่เผยว่าที่ประชุมในงานดังกล่าวมีความเข้าใจถึงความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันภายในงานก็นำเสนอความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจำนวนมาก ตัวอย่างผลงานที่น่าทึ่งคือวัสดุและโลหะสำหรับก่อสร้างที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีพัฒนาให้โมเลกุลของวัสดุทนการสั่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากญี่ปุ่นเจอแผ่นดินไหวบ่อย บ้านและสิ่งปลูกสร้างจึงต้องทดแรงสะเทือนและสั่นไหวได้
“อีกงานวิจัยที่น่าสนใจคือการนำเส้นใยจากกระเปาะพืชบางชนิดที่มีความแข็งแรงสูง มาเข้าระบบแคปซูลนาโนเพื่อให้ได้เส้นใยทอผ้าที่มีความคงทน ส่วนตัวอย่างผลงานจากไทยที่น่าสนใจคือเครื่องวัดรสชาติอาหารซึ่งไม่ใช่เครื่องวัดความอร่อย แต่เป็นเครื่องที่วัดรสสชาติต่างๆ คือ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ตัวอย่างเมื่อเรานำไปทดสอบต้มยำกุ้ง 6 ร้าน ก็จะได้องคืประกอบรสชาติของทั้ง 6 ร้าน หากเราชอบรสชาติของร้านไหนก็นำมาเป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อผลิตอาหารให้ได้รสชาติใกล้เคียงตามองค์ประกอบ” ดร.พิเชฐกล่าว
จากการร่วมแสดงผลงานทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นงานหลักในการเยือนโตเกียวครั้งนี้ ดร.พิเชฐกล่าวว่า มีภาคเอกชนไทย 23 รายได้เตรียมต่อยอดเจรจาธุรกิจกับทางญี่ปุ่น ซึ่งประโยชน์ของการไปเยือนต่างประเทศนั้น จะทำให้ต่างประเทศได้รู้จักและเห็นศักยภาพของประเทศไทย และการไปแต่ละครั้งจะก่อให้เกิดความร่วมมือกัน ซึ่งในช่วงหลังมักนำภาคเอกชนร่วมเดินทางไปด้วย ทำให้เกิดการเจรจาและลงทุนทางการค้าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และอีกประโยชน์คือนักวิจัยไทยมีโอกาสได้ทุนวิจัย
สำหรับการไปเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้สถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติญี่ปุ่น (GRIPS) มีความตกลงร่วมมือกับไทย โดยให้การสนับสนุนทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. 2 ทุน เดินทางไปดูงานที่สถาบันดังกล่าวปีละ 3 ครั้งๆ ละ 2 สัปดาห์ โดยผู้ได้รับทุนจะต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านวิเคราะห์นโยบาย วทน. นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสถาบันวัสดุศาสตร์ญี่ปุ่น (National Institute for Materials Science: NIMS) เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนา และแลกเปลี่ยนบุคลากรทางด้านวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี
ไม่เพียงเท่านั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เผยอีกว่ายังได้เดินทางไปเยือน “เมืองโตโยต้า” (Toyota City) ในนาโกยา ซึ่งเคยเป็นเมืองเกาตรกรรรม แต่ได้พัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม และเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโตโยต้า โดยได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าทั้งในญี่ปุ่นและจากประเทศไทย อีกทั้งยังได้เห็นการขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งขับเข้าไปเติมก๊าซไอโดรเจนในปั๊ม พร้อมทั้งปล่อยของเสียเป็นหยดน้ำออกมาตามท่อแทนควันรถยนต์อย่างที่เคยเห็น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ระหว่างเยือนญี่ปุ่น
*******************************