xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้สำเร็จ "ยาสูด" รักษาวัณโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยาสูดรักษาวัณโรค ผลงานคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ข่าวดีสำหรับคนไข้วัณโรค เภสัช มอ.พัฒนายาสูดเข้าทางเดินหายใจรักษาวัณโรคแบบใหม่ใกล้สำเร็จ ลดดื้อยา-หายเร็วกว่า-ใช้ปริมาณน้อยกว่า-ไม่มีผลข้างเคียง เตรียมแทนที่การรักษาแบบยากินที่มีผลข้างเคียงสูง



ภก.ดร.ธันว์ สุวรรณเดชา นักศึกษาระดับหลังปริญญาเอก สถานวิจัยความเป็นเลิศระบบนำส่งยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอดทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV Virus) และผู้ที่เดินทางไปมาจากพื้นที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อกลุ่มไมโคแบคทีเรีย (Mycobacteria) โดยเฉพาะไมโคแบคทีเรียม ทูเบอคูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ซึ่งสามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ตับ ไต กระดูกและปอด ซึ่งวัณโรคปอดถือเป็นอันดับหนึ่งที่พบมากที่สุดในผู้ป่วย เนื่องจากเชื้อวัณโรคจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นระบบสำคัญที่นำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายที่สุด

ดร.ธันว์ อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ร่างกายจะตอบสนองเชื้อวัณโรคด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “มาโครฟาจที่ปอด” (Macrophage) ที่จะคอยทำลายสิ่งแปลกปลอมในปอดโดยการกิน แต่เชื้อบางส่วนที่หลุดรอดจากการทำลายก็สามารถเข้าไปเจริญเติบโตภายในเซลล์มาโครฟาจเช่นเดียวกัน และเมื่อเชื้อเพิ่มปริมาณมากขึ้นจะทำให้เซลล์มาโครฟาจแตกออกส่งผลให้เชื้อวัณโรคกระจายไปตามกระแสเลือดเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ

“วัณโรคเป็นโรคที่มีมานานแล้ว คนไทยก็น่าจะคุ้นเคย เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ด้วยการกินยา 4 ชนิดควบคู่กันไป แต่ติดที่ต้องกินต่อเนื่องนานถึง 6 เดือน เนื่องจากเชื้อวัณโรคมีความทนต่อยา และมีอัตราการดื้อยาสูงมาก ประกอบกับมีผลข้างเคียงรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยถอดใจไม่ยอมรักษาตามที่แพทย์สั่ง เป็นผลให้อาการของไม่หายขาด ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นเรื่อยๆ วัณโรคจึงไม่หมดไปจากสังคมเสียที อาจารย์ของผม และทีมวิจัยจึงพยายามคิดสูตรยารักษาแบบใหม่ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น” ดร.ธันว์ เผย

ดร.ธันว์ ระบุว่า งานวิจัยของอาจารย์เขาและห้องปฏิบัติการของเขาคือ การคิดสูตรยาเพื่อนำส่งอนุภาคยาขนาดเล็กเข้าสู่ปอดส่วนล่างผ่านวิธีสูด คล้ายคลึงกับการรักษาโรคหอบหืด และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งการสูดเข้าไปในทางเดินหายใจ โดยตรงนี้จะทำให้ยาลงไปสู่ปอดส่วนล่างได้อย่างเต็มที่ เพราะตัวยาที่ทำขึ้นมีขนาดเพียงแค่ 5 ไมครอนซึ่งเป็นขนาดที่พอดีและจำเพาะเจาะจงกับปอดส่วนล่าง เป็นผลให้การรักษามีระยะเวลาสั้นลงจาก 6 เดือนเหลือแค่ 1-2 เดือนและใช้ปริมาณยาต่ำลง ที่คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตระหว่างรักษาตัวดีขึ้น

โครงการพัฒนายารักษาวัณโรคนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ซึ่ง ดร.ธันว์ ให้แนวโน้มว่าในขณะนี้อยู่ในขั้นที่ใกล้สำเร็จ ผ่านการประเมินในห้องปฏิบัติการนอกร่างกายเพื่อทดสอบความคงตัว สมบัติทางเคมี, ผ่านการทดลองในสัตว์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความเป็นพิษ และผ่านการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 จากอาสาสมัคร 40 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่พบผลข้างเคียงแต่อย่างใด และในขั้นตอนต่อไปคือการทดลองในผู้ป่วยจริงควบคู่กับการรักษาด้วยยากินเพื่อประเมินประสิทธิภาพการรักษาที่คาดว่าจะได้ผลสรุปที่แล้วเสร็จ และพร้อมนำออกใช้ในโรงพยาบาลทั่วไปใน 2-3 ปีข้างหน้า

“ยาที่ทำออกมาจะดีกว่ายากินที่มีอยู่ เพราะยาแบบสูดจะลงสู่ปอดโดยตรงทำให้การรักษาตรงไปตามเป้ามากกว่ายากินทำให้ร่นเวลารักษาและลดขนาดยาลงได้โดยไม่เกิดการดื้อยา โดยตัวยาจะถูกบรรจุไว้ในอนุภาค “โปรลิโพโซม” ซึ่งเตรียมโดยการผสมตัวยาต้านวัณโรค และสารประกอบ “ฟอสโฟลิปิด” เข้าด้วยกันแล้วทำให้เป็นผงด้วยเทคนิคทำแห้งแบบพ่นฝอย เมื่อสูดผงยาแห้งเข้าสู่ปอดส่วนล่าง เซลล์มาโครฟาจจะจับกินอนุภาคลิโปโซม และยาต้านวัณโรคจะถูกปลดปล่อยภายในเซลล์มาโครฟาจ เพื่อฆ่าวัณโรคต่อไป” ดร.ธันว์ กล่าวถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยา

นอกจากนี้ ดร.ธันว์ ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สถานวิจัยความเป็นเลิศระบบส่งยา มอ. ยังได้ออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับการสูดยาวัณโรคขึ้นมาอีกด้วย เป็นลักษณะคล้ายหลอดยาดมขนาดใหญ่ที่แยกส่วนประกอบได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนก้นของผลิตภัณฑ์สำหรับใส่ตัวยาผ่านแคปซูลที่เมื่อบิดออกผงยาก็จะหลุดออกจากแคปซูลแยกตัวเป็นผง ส่วนที่สอง คือส่วนของการสูดที่ถูกออกแบบมาให้พอดีกับการสูดลมจากช่องปาก ที่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเมื่อมีการนำไปใช้จริงผู้ป่วยจะสามารถนำกลับไปใช้สูดยาเองที่บ้านได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยโครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปีงบประมาณ 2555 เป็นจำนวนเงิน 2,800,000 บาท
หลอดบรรจุยา และตัวยาต้นแบบ
หลอดสูดยาถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกในการสูด เพียงนำแคปซูลใส่เข้าที่บริเวณรูของหลอดด้านขวาและนำทั้ง 2 ส่วนประกบกัน ก็สามารถใช้ได้ทันที
ภก.ดร.ธันว์ สาธิตท่าทางการสูดยาที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการฝึกก่อนกลับไปทำเองที่บ้านเพื่อความปลอดภัย
เครื่องวัดขนาดอนุภาคยา (เครื่อง Andersen Cascade Importor) อีก 1 เครื่องมือทดสอบประสิทธิภาพของยา
เครื่อง Spray Dry ผลิตยาผงอนุภาคเล็กสำหรับสูด
ภก.ดร.ธันว์ สุวรรณเดชา นักศึกษาระดับหลังปริญญาเอก สถานวิจัยความเป็นเลิศระบบนำส่งยา มอ.






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น