นับเป็นอีกความภาคภูมิใจของ “ชาวทุ่งครุ” ในย่านฝั่งธนที่เบียดขึ้นเป็นแชมป์ผู้เพาะเลี้ยง “แพะ” มากที่สุดในกรุงเทพฯ ทว่า ความน่าภูมิใจของชุมชนก็มาพร้อมกับภาระอันหนักอึ้งและเหม็นคละคลุ้ง เพราะทั้งชุมชนมีของเสียจากแพะมากถึงวันละ 18 ตัน การกำจัด “ขี้แพะ” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
1 ใน 3 ของประชากรในเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานครเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม การเลี้ยงแพะจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชุมชน เพราะนอกจากเลี้ยงเป็นอาหารแล้วยังใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่ง นายเกษม มหันตเกียรติ เลขาธิการกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ทุ่งครุ และเจ้าของ “ฟาร์มแพะฮีซาดาน” เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เดิมทีวิถีชุมชนทุ่งครุจะเลี้ยงแพะแบบปล่อยตามธรรมชาติ แต่เมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้นจึงต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงในระบบปิด โดยสร้างคอกสำหรับแพะและหาอาหารมาให้
ผู้เลี้ยงแพะในทุ่งครุได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงสัตว์ โดยมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 65 คน และมีแพะทั้งหมดประมาณ 3,500 ตัว โดยเป็นแพะนมราว 70% ส่วนที่เหลือเป็นแพะเนื้อ ซึ่งนับเป็นชุมชนที่เลี้ยงแพะมากเป็นอันดับ 1 ในกรุงเทพฯ แต่ถึงแม้จัดการให้แพะอยู่ในพื้นที่จำกัดเพื่อลดการรบกวนชุมชนได้แล้ว ทว่าการกำจัดมูลแพะยังเป็นปัญหา โดยแพะแต่ละตัวถ่ายมูลออกมาวันละ 300-500 กรัม ผู้เลี้ยงแพะจึงต้องจัดการกลิ่นและกำจัดของเสียให้ดีขึ้น
ที่ผ่านมาเกษมซึ่งเลี้ยงแพะประมาณ 50 ตัว แก้ปัญหามูลแพะโดยนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก แต่ไม่ได้ทำอย่างครบวงจร จึงไม่ได้บรรจุถุงจำหน่ายเพื่อกำจัดปริมาณมูลแพะออกจากฟาร์ม ขณะเดียวกันเขาได้ไปศึกษาการกำจัดมูลในฟาร์มหมูและฟาร์มโคนมที่อื่น ซึ่งนำไปผลิตไปเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับหุงต้ม จนเกิดแนวคิดว่าอยากลองทำบ้าง แต่เขาไม่มีความรู้ จนกระทั่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ติดต่อและนำคณะนักวิจัยเข้ามาช่วยเหลือ
ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดย อรณัท ปฐพีจำรัสวงศ์ จากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ได้นำความรู้การสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถุงพีวีซี ซึ่งเคยใช้กำจัดมูลสุกรในฟาร์มที่ จ.นครปฐม และฟาร์มโคนมที่ จ.ราชบุรี มาปรับใช้ที่ฟาร์มแพะของเกษม โดยย่อส่วนเพื่อผลิตก๊าซหุงต้มชีวภาพสำหรับครัวเรือน ซึ่งรองรับปริมาณมูลแพะได้ 30 กิโลกรัม และผลิตก๊าซชีวภาพได้ 4 ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่าก๊าซแอลพีจี 2 กิโลกรัม
“ปกติเราทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ที่นครปฐมและราชบุรีมาก่อน แล้วบังเอิญมาเห็นว่าที่ทุ่งครุมีปัญหา ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเรา (มจธ.) แล้วทำไมเราไม่ดูแลคนใกล้บ้าน เราจึงเข้ามาช่วยเหลือ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ไม่ต่างกัน แต่ปัญหาคือมูลแพะจะแข็งกว่ามูลสุกรและโค จึงต้องนำไปแช่น้ำค้างคืนก่อนนำไปหมักในบ่อ ส่วนความถี่ในการเติมมูลแพะนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ก๊าซชีวภาพ” อรณัทกล่าว
ทางด้านเกษมเผยอีกว่าปกติฟาร์มของเขาใช้ก๊าซหุงต้มเดือนละ 4 ถัง คิดเป็นต้นทุนราว 1,600 บาท แต่ลงทุนสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพใช้เงินเพียง 20,000 บาท โดยบ่ออยู่ได้นานถึง 10 ปี นับว่าคุ้มและคืนทุนได้ในเวลา 1 ปี แต่ยังมีปัญหาว่า ระยะจากบ่อหมักไปถึงจุดใช้งานหุงต้มอยู่ไกลกัน ทำให้แรงดันก๊าซไม่เพียงพอ จึงเกิดแนวคิดว่าน่าจะมีการอัดก๊าซลงถังเพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้งาน ทีมวิจัยกำลังพัฒนาวิธีการถัดก๊าซชีวภาพลงถัง แต่ยังติดปัยหาในเรื่องกฎหมาย ซึ่งต้องหาทางทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อไป
สอดคล้องกับข้อมูลจากอรณัทที่เผยว่า หลังจากทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพต้นแบบที่ฟาร์มแพะฮีซาดาน ซึ่งเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนพลังงานและการเกษตรเขตทุ่งครุด้วยนั้น มีสมาชิกสหกรณ์กลุ่มเลี้ยงแพะทุ่งครุให้ความสนใจจำนวนมาก จึงมีแนวคิดว่าหากอัดก๊าซลงถังให้สะดวกแก่คนในชุมชน จะทดแทนการใช้ก๊าซแอลพีจีในชุมชนได้ทั้งหมด เนื่องจากในชุมชนผลิตมูลแพะได้มากถึง 1,800 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้มูลแพะที่ถูกหมักจะเหลือเป็น “กากมูลหมัก” ซึ่งเอาไปใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ได้
“ตอนนี้เราคิดต่อยอดไปถึงการอัดลงถัง และผลิตกากมูลหมักเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ และเรายังคิดไปไกลถึงการนำไปใช้ในรถยนต์ด้วยเพราะสามารถใช้ทดแทนก๊าซแอลพีจีได้” อรณัทกล่าว
สำหรับเทคโนโลยีหมักก๊าซชีวภาพนี้อรณัทกล่าวว่าไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ ที่ต่างประเทศมีใช้กันมาก โดยเฉพาะที่เยอรมนี ซึ่งนำไปใช้หมักก๊าซจากกากโรงงานแป้ง แต่เป็นบ่อหมักขนาดใหญ่ ส่วนที่ไทยนั้นปรับขนาดให้เล็กลงสำหรับใช้ในครัวเรือน โดยบ่อหมักก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยทำในเมืองไทยอยู่ที่ฟาร์มหมูใน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยเป็นบ่อหมักขนาด 50 ตารางลูกบาศก์เมตร
***
ผู้สนใจบ่อหมักก๊าซชีวภาพแบบถุงพีวีซี ติดต่อ
อรณัท ปฐพีจำรัสวงศ์
สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร.0-2470 -7489 / E-mail: importrod @ hotmail.com
*******************************