xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: ทำไมต้องอ่าน "วารสารวิจัยวิทยาศาสตร์"?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดโลก "วารสารวิจัยวิทยาศาสตร์" ขุมทรัพย์ความรู้ที่ใครก็เข้าถึงได้ กับ 5 สุดยอดนักวิจัยที่จะมาช่วยคลายข้อสงสัยว่า วารสารวิจัยมีความสำคัญอย่างไร? การตีพิมพ์ผลงานจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แล้วทำอย่างไรเราถึงจะอ่านงานวิจัยได้ทะลุปรุโปร่ง หาคำตอบได้ที่นี่



SuperSci สัปดาห์นี้พามาทำความรู้จักกับ "วารสารวิจัยวิทยาศาสตร์" วารสารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในหมู่คนทั่วไป แต่เป็นหัวใจสำหรับคนในแวดวงวิทย์ แหล่งรวบรวมมันสมองจากนักวิจัยทั่วโลกที่ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นตัวหนังสือ ที่ทำให้วิทยาการต่างๆ บนโลกของเราไม่เคยหยุดนิ่ง

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์มีหน้าที่ค้นหาความจริง จึงจำเป็นต้องอาศัยหนังสือ หรือแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ และมีความถูกต้องสูง ซึ่งวารสารวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวการันตีผลงานทางวิทยาศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยความรู้ใหม่ๆ นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิจัยจึงจำเป็นต้องอ่านวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ความรู้ที่เชื่อว่าถูกต้องที่สุดและมีแนวโน้มไปทางเดียวกันทั้งโลก เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว

แล้วเมื่อได้คำตอบเดียว หรือสิ่งที่พิสูจน์ได้จากงานวิจัยของตัวเองแล้ว สิ่งต่อไปที่นักวิจัยต้องทำคือการตีพิมพ์ผลงานลงวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถือเป็นหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของนักวิจัยด้วย เพราะการตีพิมพ์งานวิจัย คือการเพิ่มความรู้ให้กับมวลมนุษยชาติ เหมือนการเติมเต็มกองความรู้ที่ได้จากนักวิจัยทั้งโลกไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งถ้าทำวิจัยแล้วเก็บผลไว้คนเดียวโดยไม่ตีพิมพ์ ก็เท่ากับงานวิจัยนั้นไร้ประโยชน์เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความรู้ไปด้วย นอกจากนี้การอ้างอิงกันในผลงานกันยังเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งของนักวิจัยที่จะช่วยให้ผู้อ่านมีมวลความรู้มากขึ้น และสามารถสืบค้นข้อมูลต่อไปในวงกว้างได้

ในส่วนของ ผศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า เมื่อก่อนการจะหาวารสารวิทยาศาสตร์มาได้สักเรื่องหนึ่งนั้น ทำได้ค่อนข้างลำบาก ต้องไปที่ห้องสมุดเพื่อขอคำสืบค้นจากบรรณารักษ์ หรือต้องเดินทางไปยังห้องสมุดไกลๆ หากที่ห้องสมุดในสถานศึกษาของตัวเองไม่มีงานวิจัยเรื่องที่ต้องการ จึงอยากให้นักศึกษา นักวิจัยสมัยใหม่ เห็นคุณค่าและสนใจอ่านวารสารวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเข้าถึงง่าย ยังมีฐานข้อมูลหลากหลายแบบให้ทำการสืบค้น

"การสืบค้นทำได้หลายวิธี แต่ที่อาจารย์ใช้บ่อยๆ จะเป็นของฐานข้อมูล SJR หรือ SCImago Journal and Country Rankที่สามารถแบ่งกลุ่มวารสารได้ตามหมวดวิชา และสาขาวิชาย่อยตามความสนใจได้มากมาย ที่เพียงแค่คลิกเดียวเท่านั้น วารสารวิจัยที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลกก็จะมาปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ได้เลือกศึกษากัน” ผศ.ดร.อรฤทัย อธิบาย

นอกจากระบบสืบค้นในคอมพิวเตอร์แล้ว ปัจจุบันก็สามารถอ่านวารสารวิจัยได้จากแท็บเลตเช่นกัน โดยผ่านทางแอปพลิเคชันที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งส่วนตัวของเธอนิยมอ่านวารสารของอเมริกันเคมิคอลโซไซตี และ รอยัลโซไซตี้ออฟเคมิสทรี ที่สามารถเลือกโหลดได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ผศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ

ท้ายสุด ผศ.ดร.วันเพ็ญ เตชะบุญเกียรติ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ด้วยว่า ไม่เฉพาะนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะอ่านวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์ได้ แต่คนทั่วไปก็เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ ได้เช่นกัน เพราะการตีพิมพ์จะเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ คล้ายๆ กับการอ่านตำราแต่จะเป็นตำราที่เฉพาะทางและถูกคั้นเอาแต่เนื้อหาเน้นๆ มาแล้วเท่านั้น ผู้อ่านวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องคิด และวิเคราะห์ในทุกๆ ส่วนของวารสาร เพื่อหาจุดขาย วิธีการทดลอง และการสรุปรวบรวมผลต่างๆ ซึ่งอาจจะยากสำหรับตอนเริ่มอ่าน แต่ถ้าอ่านจนเคยชินแล้วก็จะทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.วันเพ็ญ  เตชะบุญเกียรติ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น