xs
xsm
sm
md
lg

ฟีโบ้-ทีเซลส์จับมือเอกชนตั้งเป้าสร้างหุ่นยนต์จัด-ลำเลียงยาลดความผิดพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟีโบ้-ทีเซลส์ ร่วมมือบริษัทเครื่องมือแพทย์พัฒนาระบบหุ่นยนต์จัด-ลำเลียงยาอัตโนมัติ ลดภาระงานเภสัช แก้ปัญหาความผิดพลาดการจ่ายยา โดยตั้งเป้าไว้ว่าหุ่นยนต์ชิ้นแรกจะเสร็จภายในปี 2558

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในวงการการพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติของไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ที่สามารถออกแบบและสร้างระบบหุ่นยนต์เพื่อใช้งานได้จริง

"ผมมั่นใจกับผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือในการจัดสร้างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในครั้งนี้มาก เพราะเราได้รับโจทย์วิจัยจากบริษัทเอกชนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องมือแพทย์มาเป็นเวลานาน จึงมั่นใจได้ว่าหุ่นยนต์ช่วยจัดและลำเลียงยาที่จะเรากำลังดำเนินการและตั้งเป้าจะทำให้เสร็จในปีนี้ จะเป็นหุ่นยนต์ที่เข้ามาพลิกโฉมวงการเครื่องมือแพทย์ และทำให้วงการการแพทย์ของไทยล้ำหน้าไปอีกขั้น เพราะวันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านการแพทย์เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียนอยู่แล้ว จุดมุ่งหมายที่เราต้องทำต่อคือเราต้องเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ได้ด้วย" ผอ.ฟีโบ้ เผย

ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีเซลส์ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดที่ใช้งานได้จริง ซึ่งในความร่วมมือครั้งนี้ทีเซลส์เข้ามามีบทบาทร่วมกับฟีโบ้และ บ.สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ในการจัดตั้งคณะทำงานอันประกอบด้วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่จาก 3 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตรงตามโจทย์ที่กำหนดไว้จากการสำรวจความต้องการของบริษัทเครื่องมือแพทย์ และโรงพยาบาล ที่มีความต้องการเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้การจ่ายยารวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเข้ามาร่วมกันครั้งนี้ เขามั่นใจว่าจะเป็นอีกขั้นของการพัฒนาเครื่องมือแพทย์เพราะเป็นการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน

ในส่วนของ นายกำธร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด กล่าวว่า บริษัทของเขาเป็นบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ทำให้เขาทราบว่าการลงทุนและการใช้ยาในประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงถึงแสนล้านบาท การพัฒนาระบบการจ่ายยาเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของรัฐและควบคุมความถูกต้องปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญ แต่การผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านการแพทย์ทำได้ช้า ต้องใช้เวลา บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัดจึงริเริ่มในการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อให้บริการประชาชนในโรงพยาบาล

"หุ่นยนต์ที่เราจะร่วมกันสร้างจะทำขึ้นเป็นระบบไม่ใช่ตัวเดียว คือมีหลายๆ ตัวที่ร่วมกันทำงาน โดยจะเน้นไปที่หุ่นยนต์จัดและลำเลียงยาเพื่อลดภาระงานของเภสัชกร ให้เขาทำงานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น ลดหน้าที่บางอย่างที่ไม่จำเป็นไปให้หุ่นยนต์ทำ เช่น การจัดยา การนับสต๊อคยา เพื่อให้เภสัชกรมีเวลามากขึ้นสำหรับการพูดคุยและทำความเข้าใจเรื่องยากับประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้งานทางเภสัชศาสตร์มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นยังช่วยให้ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ลดลงด้วย อีกทั้งการนำยาเข้าสู่ระบบหุ่นยนต์ จะทำให้ห้องยาแต่ละแห่งทราบว่ายาชนิดใดมีเหลือปริมาณเท่าไหร่ หมดอายุวันไหนซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายาหมดอายุก่อนใช้ที่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น นอกจากนี้เรายังมองไปถึงระบบเครื่องมือแพทย์ทางไกล หรือหุ่นยนต์ที่จะเข้าไปช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ต่างจังหวัดได้เข้าถึงการรักษาผ่านการสั่งการจากหมอในเมืองเพื่อให้ประชาชนคนไทยในทุกภาคส่วน มีโอกาสเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ที่เท่าเทียมกันในอนาคต โดยตั้งเป้าไว้ว่าหุ่นยนต์ชิ้นแรกจะเสร็จภายในปี 2558" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นายกำธร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น