xs
xsm
sm
md
lg

ให้ “ช็อกโกแลต” อย่าลืมดูแลหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทความ ช็อกโกแลตกับสุขภาพหัวใจในวันแห่งความรัก
โดย ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์  ฉัตรทิพากร

เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าหัวใจ
คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในวันวาเลนไทน์ ที่กำลังจะมาถึงนี้  สิ่งที่หลายๆ คนนึกถึงก็คงจะหนีไม่พ้น สัญลักษณ์รูปหัวใจ ดอกกุหลาบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ช็อกโกแลต ที่มีทั้งความหอมและความหวาน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการให้เป็นของขวัญแทนความรักเนื่องในโอกาสสุดพิเศษนี้  

วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ในการผลิตช็อกโกแลตก็คือ ผงโกโก้ ซึ่งได้มาจากเมล็ดโกโก้ โกโก้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Theobroma cacao แปลว่า อาหารของพระเจ้า จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการปลูกโกโก้มาตั้งแต่สมัยโบราณโดยชนเผ่ามายา และชนเผ่าอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในอเมริกากลาง ในปัจจุบันพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก 75%

มีรายงานว่าในปี 2009 มีการบริโภคช็อกโกแลตทั่วโลกถึง 7.2 ล้านตัน และคาดการว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ล้านตันในปี 2020 จากข้อมูลทางสถิติพบว่าชาวอเมริกันบริโภคช็อกโกแลตเฉลี่ยสูงถึง 5.3 กิโลกรัม/คน/ปี ในขณะที่ประเทศไทยเราอยู่ที่ประมาณ 0.26 กิโลกรัม/คน/ปี แต่ตัวเลขการบริโภคช็อกโกแลตนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันวาเลนไทน์ที่จะมาถึง

ในด้านสุขภาพนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริโภคอาหารที่หวานและมีปริมาณแคลอรีสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ และจากงานวิจัยที่สนับสนุนโดย สกว. ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะอ้วนนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ ในร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหัวใจและสมอง เนื่องจากจะทำให้หัวใจทำงานแย่ลง ส่วนในสมองก็จะทำให้การเรียนรู้และความจำที่ลดลง

คำถามก็คือว่าถ้าทานช็อกโกแลตมากๆจะเป็นอย่างไร ได้มีการศึกษาวิจัยและพบว่าสารสำคัญในเมล็ดโกโก้ คือ สารในกลุ่มโพลีฟีนอลและฟลาโวนอยด์ เช่น แคทิซิน และเอพิแคทิซิน นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับคาเฟอีน (caffeine) มาก แต่จะมีฤทธิ์อ่อนกว่าคาเฟอีน โดยสารที่พบในโกโก้จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นหัวใจ ขยายเส้นเลือด

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าโกโก้ยังสามารถช่วยบรรเทาภาวะของโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง บรรเทาอาการอักเสบ ลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด รวมทั้งช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้อีกด้วย

ที่ฤทธิ์ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารฟลาโวนอยด์ในโกโก้เป็นสำคัญ จากการศึกษาในมนุษย์พบว่าการบริโภคโกโก้ที่มีสารฟลาโวนอยด์ ปริมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวันอย่างต่อเนื่องจะได้รับประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น  

อย่างไรก็ตามแม้จะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการบริโภคช็อกโกแลต แต่การบริโภคช็อกโกแลตในปริมาณมากเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่ใช่สิ่งที่นักวิจัยแนะนำ เนื่องจากหากมีปริมาณมากจนเกินไปก็จะมาพร้อมกับการบริโภคน้ำตาลที่สูงขึ้นด้วย เพราะช็อกโกแลตส่วนใหญ่ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด จะมีส่วนผสมของปริมาณน้ำตาลที่สูงอยู่ด้วย  

ดังนั้นการบริโภคช็อกโกแลตดังกล่าวในปริมาณมาก จึงสามารถนำไปสู่การเกิดโรคอ้วน และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด  

การออกกำลังกายควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน ดังนั้นในเทศกาลวันวาเลนไทน์นี้นอกจากให้ช็อกโกแลตเพื่อมอบความรักให้แก่กันแล้ว อย่าลืมเตือนคนรักให้ดูแล(สุขภาพ)หัวใจด้วย
ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร









กำลังโหลดความคิดเห็น