คงเป็นเรื่องไม่สนุกถ้าต้องนั่งฟังใครถกเถียงกัน แต่ถ้าการถกเถียงนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานวิชาการและเหตุผล ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นผลงานเปลี่ยนโลก เช่นเดียวกับ “ฮิโรชิ อะมาโนะ” นักฟิสิก์ญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลปีล่าสุดจากการพัฒนา “แอลอีดีสีน้ำเงิน” ซึ่งนำไปสู่การประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายในปัจจุบัน
“พวกคุณรู้ไหม ตอนอยู่ ม.ปลายผมเกลียดฟิสิกส์เข้ากระดูกดำ” ดร.ฮิโรชิ อะมาโนะ (Dr.Hiroshi Amano) อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกยา (Nagoya University) ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2557 จากการสร้างผลงานไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน (Blue LED) เผยระหว่างการเดินทางมาร่วมกิจกรรมNU Day เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาประเทศญี่ปุ่น แก่นักเรียนชั้น ม.ปลาย และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
แม้จะเคยเกลียดฟิสิกส์มาก แต่ตอนนี้ ดร.อะมาโนะกลับรู้สึกขอบคุณความอดทนและความพยายามของเขาที่ทำให้ชีวิตเดินมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะหลังจากเขาได้รับรางวัลโนเบลชีวิตของเขาแทบจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่ใช้ชีวิตอยู่กับการสอนหนังสือให้แก่นักศึกษาและการวิจัย เขากลับต้องเดินสายเพื่อพบปะกับผู้คนมากมาย ได้รับเกียรติสูงสุดในการร่วมโต๊ะเสวยกับพระราชวงศ์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแห่งต้นกำเนิดของรางวัลโนเบล รวมถึงได้ออกรายการโทรทัศน์ และออกสื่อต่างๆ ทั้งสื่อต่างชาติและสื่อญี่ปุ่นที่หันมาให้ความสนใจกับงานวิจัยของเขา ทั้งที่งานวิจัยของเขาได้เริ่มและเสร็จมานานแล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลกลับประเดประดังใส่ หลังจากได้รับรางวัลโนเบลที่ทำเอานักวิทยาศาสตร์ธรรมดาๆ แบบเขาถึงกับทำตัวไม่ถูก
ดร.อะมาโนะ เล่าต่อว่า งานวิจัยของเขาคือการศึกษาดัดแปลงโครงสร้างไนไตรด์ โดยการใช้อุณหภูมิ ความร้อนและสารเร่งปฏิกริยาเพื่อให้เกิดการเรียงตัวและรูปร่างของผลึกตามที่ต้องการ นำมาสู่การสร้างและพัฒนาไดโอทเปล่งแสงสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในรูปแบบของโทรทัศน์จอแอลอีดี และแสงสีต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก เพราะทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับหน้าจอโทรทัศน์ หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมีสีสัน ได้มีดวงไฟหลากสีไว้ใช้งาน และที่สำคัญการประดิษฐ์นวัตกรรมนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากทีวีจอนูนใหญ่ยักษ์ ให้เหลือเพียงแค่จอแอลซีดีขนาดบางๆ
“ผมใช้เวลากับงานวิจัยประมาณ 11 ปี ผมเริ่มทำโครงงานสมัยปริญญาตรีเรื่องโครงสร้างไนไตรด์ต่อผลของแอลอีดีสีน้ำเงิน ตั้งแต่ปี 2525ต่อจากอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องแสงสีน้ำเงิน พัฒนามาเรื่อยๆ จนผลิตแอลอีดีรุ่นแรกนำออกขายในปี 2536 แต่อาจารย์ผมมักจะย้ำเสมอว่า ยังดีไม่พอ ต้องทำอีก ต้องพัฒนาอีก จนบางครั้งผมก็เหนื่อยและไม่อยากทำ แต่พอผมคิดว่าคนทั้งโลกจะได้ใช้หลอดแอลอีดีที่จะช่วยให้การใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง จะช่วยให้ทวีปแอฟริกาส่องสว่างได้ผมก็กลับมาทำต่อ ซึ่งความอดทนข้อนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจ เพราะถ้าเป็นคนอื่นอาจจะเลิกทำแล้วออกจากแล็บไปกินเหล้าเลยก็ได้” ดร.อะมาโนะกล่าว
กว่างานวิจัยของ ดร.อะมาโนะจะออกมาดีที่สุดเช่นทุกวันนี้ เขาต้องทำการทดลองแบบเดิมซ้ำๆ มาไม่ต่ำกว่า 1,500 รอบ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในงานวิจัยและลืมไม่ได้คือ การอภิปรายผลการทดลอง (Discussion) ที่เขาและลูกศิษย์ต้องทำร่วมกันในตอนค่ำของทุกวันหลังจากทำการทดลองเสร็จ ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาถือว่ามีค่ามากสำหรับตัวเขา เพราะทุกคนจะได้นำความรู้มาถกเถียงกัน ซึ่งมีทั้งที่ถูกและไม่ถูก แต่นั่นคือกุญแจที่ทำให้เขาค้นหาคำตอบของงานวิจัยชิ้นที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล
การอภิปรายผลงานการทดลองเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันสำหรับ ดร.โทชิฮิเดะ มาซะกาวา (Dr.Toshihidae Maskawa) อาจารย์อาวุโสจากสถาบันกำเนิดอนุภาคและเอกภพโกบายาชิ-มัสกาวา (Kobayashi-Maskawa Institute for the Origin of Particles and the Universe) มหาวิทยาลัยนาโกยา และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2551 ซึ่งได้กล่าวสมทบว่า เขาประสบความสำเร็จและได้รางวัลโนเบลจากการอภิปรายผลการทดลองเช่นกัน และสำหรับเขาแล้วการอภิปรายผลการทดลอง คือหัวใจหลักของการทำวิจัย
“การอภิปรายผลการทดลองสำหรับผมมันไม่มีถูกหรือผิด แต่มันเป็นการแบ่งปันกันว่าใครเจออะไรมา หรือมีข้อสงสัยตรงไหนบ้าง ที่นอกจากจะทำให้เกิดการเรียนที่นำไปสู่กุญแจของปัญหาพร้อมๆ กันแล้ว การอภิปรายผลยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนที่ทำวิจัยร่วมกันมีความรักสามัคคีกัน” ดร.มาซะกาวากล่าวระหว่างร่วมกิจกรรม NU Day ที่เมืองไทย ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พร้อมกันนี้ ดร.มิชินาริ ฮามากูชิ (Dr.Michinari Hamaguchi) อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาโกยา ได้กล่าวแนะนำมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยนาโกยาเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่เมืองนาโกยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเกาะฮอนชู และถือเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมกับธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดสอนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เน้นหนักไปที่สาขาวิทยาศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยนาโกยามีจุดเริ่มต้นจากการเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์
“เรายังมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ถึง 6 คน บางคนยังคงสอน และวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย เป็นตัวช่วยการันตีได้อย่างหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยนาโกยาเป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือสูอันดับต้นๆ ของเอเชีย เรากำลังก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีแผนที่จะขยายอัตราการรับสมัครนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาชาวเอเชีย ซึ่งเด็กไทยเป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาของไทยอยู่ในระดับดี ผลิตนักศึกษาที่มีความสามารถและความรับผิดชอบ เพื่อเข้าไปศึกษายังมหาวิทยาลัยนาโกยาได้ รวมไปถึงสัดส่วนของนักเรียนไทยในนาโกยาในขณะนี้มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน” ดร.ฮามากูชิกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เอดิสันทำให้เรามีหลอดไส้ แต่โนเบลฟิสิกส์ทำให้เรามีหลอดแอลอีดี
- ประกาศโนเบล 2014
***
สำหรับ ผู้สนใจรายละเอียดการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนาโกยา สามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดการสมัคร และกรอกใบสมัครได้ที่ http://admissions.g30.nagoya-u.ac.jp