xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าอุทยานดาราศาสตร์ที่เชียงใหม่หวังไทยเป็นผู้นำอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองโครงสร้างอุทยานดาราศาสตร์
สดร.เร่งเดินหน้าก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์ที่เชียงใหม่ พร้อมรับการเป็นศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์อาเซียน หวังยกระดับการศึกษาดาราศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ เตรียมผลักดันขึ้นแท่นผู้นำด้านดาราศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในโอกาสมาเยือนสถานที่ก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า อุทยานดาราศาสตร์ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของชาติ ที่จะยกระดับการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ของไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการดำเนินตามแผนงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย

ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า อุทยานดาราศาสตร์ มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับหอดูดาวเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ภูมิภาคทั้ง 5 แห่ง รวมถึงหอดูดาวทางไกลอัตโนมัติของสถาบันฯ ที่ตั้งอยู่ที่ Cerro Tololo International Observatory (CTIO) สาธารณรัฐชิลี และในอนาคตที่มณฑลลี่เจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน

“นอกจากนี้ยังได้รวบรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ไว้ที่นี่อย่างครบวงจร เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการวิชาการข้อมูลสารสนเทศและสถานที่จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีดาราศาสตร์ แหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ทางด้านดาราศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการและแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์” รศ.บุญรักษากล่าว

นอกจากนี้ ผอ.สดร.ระบุว่า การที่ประเทศไทยมีหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดาราศาสตร์อย่างสูงสุด มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมดาราศาสตร์ที่ทันสมัยล้ำหน้าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) และองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงพิจารณาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางดาราศาสตร์ของอาเซียนให้มีองค์ความรู้ขั้นสูง อีกทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิทยาการดาราศาสตร์ระหว่างประชาคมอาเซียนอีกด้วย

“จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า “อุทยานดาราศาสตร์” จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงวิทยาการดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก เป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์ในอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ และในอนาคตข้างหน้าจะเป็นหน่วยงานทางดาราศาสตร์ชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของโลกอย่างแน่นอน” ผอ.สดร.กล่าว

รศ.บุญรักษา กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานดาราศาสตร์ หรือ Astro Park มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นอาคารสำนักงานและดำเนินภารกิจด้านต่างๆ ของสถาบัน ห้องปฏิบัติการทางทัศนศาสตร์ ห้องปฏิบัติการพัฒนาอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ อาคารฉายดาว นิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยส่วนท้องฟ้าจำลอง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 20 เมตร และส่วนนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์

ส่วนอาคารหอดูดาว เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 4-6 กล้อง สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า อาคารศูนย์ประชุม เป็นศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ จัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ รองรับประชาชนได้มากกว่า 500 คน

สำหรับแผนดำเนินการก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์ (Astro Park) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ในกรอบวงเงินงบประมาณ 400.6 ล้านบาท กำหนดเปิดใช้งานประมาณปี 2559
ภาพจำลองอาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์
ภาพจำลองอาคารฉายดาว นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์
ภาพจำลองอาคารหอดูดาว
ภาพจำลองอาคารศูนย์ประชุม
ภาพจำลองอาคารศูนย์ประชุม






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น