xs
xsm
sm
md
lg

ถ่าย Star trails ทิศใต้ดูง่ายๆ จากกลุ่มดาวกางเขน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพเส้นแสงดาว (Star trails) ในทางทิศใต้ ซึ่งในการตำแหน่งขั้วใต้หรือจุดหมุน สามารถใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ในการชี้ตำแหน่ง โดยใช้เวลาในการถ่ายภาพรวมทั้งหมดกว่า 4 ชั่วโมง ณ บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/4.0 / ISO : 400 / WB : 4600K / Exposure : 300 sec x 48 Images)
สำหรับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวหรือที่มักเรียกกันว่า “Star trails” นั้น หลายๆ คนอาจเคยถ่ายภาพดาวหมุนในทางทิศเหนือ โดยการหาตำแหน่งจุดหมุนหรือขั้วเหนือของท้องฟ้าทางทิศเหนือนั้น สามารถใช้กลุ่มดาวค้างคาว กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือแม้แต่กลุ่มดาวนายพรานในการชี้ตำแหน่งไปยังดาวเหนือ (Polaris) ได้ ซึ่งเราก็จะเห็นดาวเหนือสว่างเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด บริเวณขั้วเหนือของท้องฟ้าได้ง่ายๆ (คอลัมน์การถ่าย Star trails ทางทิศเหนือ ตามลิงค์ http://astv.mobi/A9U53QN)

ส่วนในคอลัมน์นี้ ผมจะแนะนำการถ่าย Star trails ในทางทิศใต้กันบ้าง เนื่องจากในบางสถานที่ในการถ่ายดาวนั้นเราอาจไม่สามารถถ่ายดาวในทางทิศเหนือได้ หรือบางสถานที่ทิศที่มีวิวธรรมชาติที่สวยงามก็ไม่ได้อยู่ทางทิศเหนือ ดังเช่นภาพตัวอย่างข้างต้นที่ผมถ่ายมานั้น เป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของภาคเหนือ คือพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งทิศที่จะสามารถถ่ายภาพบริเวณพระมหาธาตุฯ ได้สวยนั้นคือทิศใต้

ดังนั้น วันนี้ผมจะแนะนำเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ Star trails ทางทิศใต้ ว่าจะสามารถหาจุดหมุนได้อย่างไร รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายภาพทางทิศนี้อย่างไร มาเริ่มกันเลยครับ

กลุ่มดาวนำทางขั้วฟ้าใต้

ในการขั้วใต้นั้น หาลำบากกว่าทิศเหนือ เพราะไม่มีดาวใดประจำอยู่ตำแหน่งขั้วใต้ของ ทรงกลมท้องฟ้า เลย ดังนั้นในการหาตำแหน่งเราจึงจำเป็นต้องใช้กลุ่มดาวที่ช่วยชี้หาทิศใต้แทน สำหรับกลุ่มดาวสำคัญที่สามารถช่วยชี้หาทิศใต้ มีอยู่ 2 กลุ่มดาวหลักๆ โดยมีช่วงเวลาและวิธีการสังเกตดังนี้

1. กลุ่มนายพราน เป็นกลุ่มดาวในฤดูหนาว ที่สามารถใช้เป็นกลุ่มดาวนำทางช่วยชี้หาทิศใต้ คนไทยเห็นเป็นกลุ่มดาวเต่า และกลุ่มดาวไถ โดยในช่วงหัวค่ำของฤดูหนาวเราสามารถใช้กลุ่มดาวนายพรานในการช่วยชี้หาทิศใต้ได้ โดยใช้ทิศทางของดาบนายพรานที่ชี้ลงล่างเป็นแนวนำทางไปยังทิศใต้ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
การใช้กลุ่มดาวนายพรานในการช่วยชี้หาทิศใต้ ซึ่งในช่วงหัวค่ำ ของฤดูหนาวเราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ทางทิศตะวันออก
2. กลุ่มดาวกางเขนใต้ เป็นอีกกลุ่มดาวสำคัญที่ช่วยชี้หาทิศใต้ ซึ่งคนไทยเรียกกลุ่มดาวกางเขนใต้ว่า ดาวว่าวปักเป้า โดยในฤดูหนาว-ฤดูร้อนจะเห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ในตอนดึก แต่ในฤดูฝนจะเห็นในตอนหัวค่ำ ลักษณะสำคัญของกลุ่มดาวนี้ประกอบด้วย ดาวฤกษ์ เพียง 4 ดวง แต่มีดาวสว่างมากอันดับต้นถึง 2 ดวง คือ Acrux และ Bcrux (Mimosa) ซึ่งดวงดาวล้างสุดของดาวกางเขนใต้จะชี้ไปทางทิศใต้ ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
การใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ ในการช่วยชี้หาทิศใต้ สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวนี้ทางทิศใต้ในตอนดึกของฤดูหนาวถึงฤดูร้อน
เทคนิคและวิธีการ
1. หาจุดหมุนของขั้วฟ้าใต้ : สิ่งแรกสำหรับการถ่ายดาวหมุน Star trails ทางทิศใต้ คือการหาจุดหมุนของขั้วฟ้าใต้ให้ได้ก่อน เพื่อจะสามารถจัดวางองค์ประกอบภาพได้อย่างสมบูรณ์ โดยทางทิศใต้ ในช่วงดึกของฤดูหนาวนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมถ่ายภาพ ผมใช้ใช้กลุ่มดาวกางเขนใต้ เป็นตัวชี้ตำแหน่งขั้วใต้ได้ ดังตัวอย่างด้านล่าง
ในตอนที่นั้งเขียนบทความนี้ ผมคิดได้ว่า….คงต้องมีคนสงสัยว่า “แล้วทำไม เราไม่หาทิศเหนือให้ได้ก่อน แล้วก็แค่หันกล้องไปทางฝั่งตรงข้าม” มันก็ถูกครับ แต่หากในบางสถานที่เรามองไม่เห็นดาวเหนือหรือทิศเหนือล่ะ การใช้กลุ่มดาวในการบอกตำแหน่งก็น่าจะจำเป็นที่สุด โดยส่วนตัวผมคิดว่า “การหาทิศได้โดยใช้กลุ่มดาวนั้น มันหล่อมาก”
2. อย่าใช้รูรับแสงกว้าง เนื่องจากทางทิศใต้ เป็นทิศทางของแนวทางช้างเผือกที่จะมีกลุ่มดาวต่างๆ รวมทั้งกระจุกดาวมากมาย ดังนั้นในการถ่ายภาพเพื่อต้องการนำมาสร้างเป็น ภาพดาวหมุน แล้วหล่ะก็ ผมแนะนำว่าไม่ควรใช้รูรับแสงที่กว้างมากเกินไป เพราะจะทำให้ถ่ายภาพติดดาวมามากเกินไป เมื่อนำมาต่อจะเจอปัญหาภาพที่มีเส้นดาวติดกันมาก จนเกิด ปัญหามัวเร่ (Moire) ได้ง่าย ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
ตัวอย่างภาพถ่ายที่เปิดค่ารูรับแสงกว้าง ทางทิศใต้ที่มีกลุ่มดาวและกระจุกดาวมากมาย บริเวณแนวทางช้างเผือก เมื่อนำภาพมาต่อกันมักจะเจอปัญหาภาพที่มีเส้นดาวติดกันมาก จนเกิด ปัญหามัวเร่ (Moire) ได้ง่าย (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF 24-70 mm. / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / WB : 4600K / Exposure : 30 sec x 162 Images)
ตัวอย่างภาพถ่ายที่เปรียบเทียบค่าการถ่ายภาพ ระหว่างการเปิดหน้ากล้องกว้าง และใช้ค่า ISO สูง และใช้เวลาถ่าย 30 วินาที จนเกิดปัญหาเส้นดาวติดกันมาก จนเกิดปัญหามัวเร่ (Moire) VS ภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องแคบ ใช้ค่า ISO ต่ำ และถ่ายภาพนานขึ้นกว่า 5 นาที จะได้ภาพที่เส้นแสงดาวไม่ติดกัน และได้สัญญาณรบกวนที่ต่ำอีกด้วย
3. ถ่ายนานขึ้น และลด ISO ต่ำลง : จากการลดรูรับแสงให้แคบลด แต่ไม่ควรแคบมากจนเกินไป ควรใช้ค่ารูรับแสงประมาณ f/4.0-6.3 น่าจะดีที่สุด เพราะหากแคบมาไปเมื่อนำภาพเส้นแสงดาวมาต่อกัน อาจจะมีรอยต่อที่ไม่สนิทกันจนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างเฟรมได้ รวมทั้งลดค่าความไวแสง ISO ให้ต่ำลง และตั้งเวลาถ่ายให้นานขึ้นเพื่อให้กล้องสามารถเก็บรายละเอียดของฉากหน้า ในขณะเดียวกันกล้องก็จะค่อยๆเก็บแสงดาวที่ไม่มากจนเกินไป

4. ถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous) : โดยควรใช้สายลั่นชัตเตอร์แบบที่สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพแบบต่อเนื่องได้ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพในแต่ละภาพได้นานมากกว่า 30 วินาที และใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวโค้งเป็นวงกลมยาวๆ
ตัวอย่างสายลั่นชัตเตอร์ ที่สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพแบบต่อเนื่องได้ ถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นสิ่งหนึ่งของการถ่ายภาพดาวหมุน ในทางทิศใต้
5. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction : เพื่อไม่ให้กล้องถ่ายภาพ Dark Frame ให้กล้องสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และไม่ทำให้เส้นแสงดาวขาดหายไป

6. การปรับโฟกัสที่ระยะอินฟินิตี้ : โดยปิดระบบออโต้โฟกัสของเลนส์รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ ซึ่งในการโฟกัสนั้น สามารถใช้ดาวสว่างในการช่วยในการโฟกัสร่วมกับระบบแสดงภาพหลังกล้อง Live view เพื่อให้ได้ภาพดาวคมชัดที่สุด

7. ถ่ายด้วยรูปแบบไฟล์เป็น RAW format : เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไขภาพเพิ่มเติมในภายหลังได้อย่างยืดหยุ่นกว่าไฟล์แบบ JPEG

8. ต่อภาพด้วยโปรแกรม StarStax ซึ่งใช้ได้ทั้งกับระบบปฏิบัติการ Windows และ Mac iOS ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.markus-enzweiler.de/software/software.html

ทิ้งท้ายก่อนจบ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราสามารถถ่ายภาพเส้นแสงดาวได้ดีที่สุด เพราะถือเป็นช่วงฤดูหนาวท้องฟ้ามักจะใสเคลียร์ และหลังจากช่วงช่วงดึก จนถึงเกือบรุ่งเช้าหากใครถ่ายได้นานจนถึงช่วงใกล้รุ่งเช้า ในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะสามารถถ่ายภาพแนวทางช้างเผือกในแนวนอนเป็นของแถมได้อีกด้วยนะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน















คลิกอ่านเพิ่มเติม >> How To Photograph Star Trails – We Show How Easy It Can Be To Capture Your First Star Trail Photo


กำลังโหลดความคิดเห็น