xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดูจุฬาฯ เปลี่ยนน้ำมันเก่าเป็น “ไบโอดีเซล” ไม่พึ่งปิโตรเลียม-เติมรถได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิสิตระดับปริญญาโทสาธิตสมรรถนะเครื่องยนต์ที่เติมด้วยน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงจากน้ำมันใช้แล้ว
ตามไปดูจุฬาฯ เปลี่ยนน้ำมันใช้แล้วเป็นเชื้อเพลิงเติมรถได้ ผลงานความร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อพัฒนา “ไบโอดีเซล” คุณภาพสูง ไม่ต้องพึ่งปิโตรเลียม ไม่มีกลีเซอรอลปน ลดความหนืด ป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์ เหมาะใช้เป็นพลังงานทดแทนในรถยนต์เติมดีเซล

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับการต้อนรับจาก ศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างการเยี่ยมชม ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งได้นำชมโรงงานผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงเทียบเท่าดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว

ศ.ดร.ธราพงษ์กล่าวว่า โครงการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยคิตะคิวชูจากญี่ปุ่นที่มุ่งผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไบโอดีเซลที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติจากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ที่ผ่านการใช้แล้ว เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ เป็นน้ำมันที่ใช้กระบวนการทรานส์-เอสเตอริฟิเคชัน (Trans-esterification) ในการผลิต จำเป็นต้องอาศัยการเติมเมทานอลเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นเมทิลเอสเตอร์ ที่มีส่วนผสมของกลีเซอรอลปะปน ทำให้น้ำมันมีความหนืด เป็นเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์เสียและใช้กับรถยนต์ทั่วไปไม่ได้ ต้องนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วนต่างๆ อาทิ น้ำมัน B3 หรือ น้ำมัน B5 จึงสามารถนำไปใช้กับรถได้

“ก็ยังไม่ตอบโจทย์เพราะยังต้องพึ่งน้ำมันจากปิโตรเลียม” ศ.ดร.ธราพงษ์กล่าว

เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาไบโอดีเซลคุณภาพสูงด้วยการคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาไบโอดีเซลให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและนำมาใช้งานกับรถยนต์ทั่วไปได้ จึงเกิดโครงการความร่วมมือกับญี่ปุ่นขึ้น โดยไทยในนามของจุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีญี่ปุ่น (Japan Science and Technology Agency: JST) และญี่ปุ่นในนามของ มหาวิทยาลัยคิตะคิวชู ได้รับการสนับสนุนจากสำหรับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เป็นจำนวนเงินประมาณ 43 ล้านบาท และยังส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น

“ไบโอดีเซลแบบใหม่ที่เราพัฒนาขึ้นจะแตกต่างไปจากไบโอดีเซลแบบเดิมทั้งในส่วนของกระบวนการ คุณภาพ และผลิตภัณฑ์พลอยได้ ไบโอดีเซลของเราจะเป็นการรีไซเคิลน้ำมันที่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะน้ำมันจากพืช หรือสัตว์ รวมถึงน้ำมันจากทะลายปาล์ม และในส่วนอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ในพืชนำมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) นำมาใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแมกนีเซียมออกไซด์และถ่านกัมมันต์ และเร่งอุณหภูมิภายในเครื่องปฏิกรณ์ เพื่อให้เกิดน้ำมันตั้งต้นสลายตัวและมีโครงสร้างคล้ายดีเซล จนเกิดการระเหยแล้วควบแน่นลงมาเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และแก๊ส ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ได้น้ำมันไบโอดีเซลถึง 70 ส่วนและแก๊สที่มีความสามารถในการเป็นเชื้อเพลิงได้อีก 30 ส่วน ซึ่งทั้งหมดสามารถนำมาใช้งานได้ทั้งหมด และเป็นระบบสะอาดเพราะไม่มีของเสียออกมาเลย” ศ.ดร.ธราพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ น้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงที่ผลิตได้ยังมีคุณภาพดีเทียบเท่าน้ำมันดีเซล แต่สามารถผลิตออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งในขณะนี้ ศ.ดร.ธราพงษ์ ระบุว่ามีต้นทุนประมาณลิตรละ 17-18 บาท แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะสามารถทำให้ต้นทุนลดลงมาได้อยู่ที่ประมาณลิตรละ 14 บาท และสามารถเติมเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยไม่มีปัญหาเครื่องกระตุก หรือควันดำ แต่อาจต้องนำเครื่องยนต์ไปปรับค่าปริมาณอากาศเพื่อปรับการเผาไหม้พลังงานในรถก่อนเล็กน้อย

“การวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ ณ ตอนนี้ เสร็จสมบูรณ์แล้วรวมเวลาทั้งสิ้น 4 ปีนับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี’54 มีการจดสิทธิบัตรการใช้กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงร่วมกัน ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยคิตะคิวชูเป็นที่เรียบร้อย อยู่ในช่วงส่งผ่านไปยังภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้มีเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และน้ำมันพืชใช้แล้วรายใหญ่ของภาคใต้มาติดต่อเพื่อจัดตั้งโรงงานแล้ว” ศ.ดร.ธราพงษ์กล่าว
ขวดบรรจุน้ำมันแสดงลักษณะน้ำมันแต่ละประเภท
น้ำมันเก่าผ่านการใช้แล้ว
นิสิตใช้น้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงเติมใส่รถกระบะก่อนขับโชว์สมรรถนะ
โรงงานผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงระดับย่อม
ศูนย์วิจัยเชื้อเพลิง จุฬาฯ เปิดโรงงานให้ผู้สนใจได้เข้าชม
ศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย








กำลังโหลดความคิดเห็น