xs
xsm
sm
md
lg

ดึงงานวิจัย มข.เพิ่มผลผลิตโคนมช่วย "ซีพีเมจิ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนทั้ง 4 ฝ่ายร่วมลงนามความร่วมมือ
วช.หนุนงานวิจัยใช้ได้จริง ดึงภาคธุรกิจจับมือนักวิทย์ ดันงานวิจัยเกษตร มข.เสริมศักยภาพฟาร์มโคนม เพิ่มอัตราการติดลูก-เสริมเทคนิคผสมพันธุ์สัตว์-ชักนำตัวอ่อนเป็นเพศเมียช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตน้ำนมป้อนโรงงานนมเมจิ

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการสืบพันธุ์ของโคนม ณ นิทารรศการวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2558 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 58 โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า งานวิจัยทางด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของไทยที่ วช.ให้การสนับสนุนมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่เสียดายเพราะจะมีเฉพาะงานวิจัยบางชิ้นเท่านั้นที่จะถูกนำไปสานต่อ เพราะขาดการนำไปใช้จริงในแง่ของอุตสาหกรรม วช.จึงพยายามหาผู้ที่จะมาทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จไปจนถึงขั้นปลายน้ำที่จะทำให้งานวิจัยออกไปสู่มือของผู้บริโภคได้ โดยการจับมือกับภาคธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังประชาชน ซึ่งในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ดำเนินการ 3 ฝ่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัย,ในส่วนของ วช.ที่เป็นผู้ให้การสนับสนุน และในส่วนของภาคธุรกิจ คือ บ.ซี พี เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี เมจิ จำกัด ที่จะเข้ามาดำเนินการในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่จะทำให้การผลิตโคนมและน้ำนมโคโดยเกษตรกรไทยมีคุณภาพมากขึ้น

“ใครๆ ก็มักจะพูดว่าเราสนับสนุนแต่งานวิจัยขึ้นหิ้ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ วช.จึงต้องพยายามหาหน่วยงานที่ 3 ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านโคนมของประเทศไทย เพื่อนำงานวิจัยในการพยายามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมและการสืบพันธุ์ของโคนม โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ วช.ให้การสนับสนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและกิจกรรมสนับสนุนการวิจัยไปปรับใช้จริงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการทำให้ทราบว่า บ.ซีพี เมจิ มีปัญหาขาดแคลนปริมาณโคนมและน้ำนม เพราะมีแม่พันธุ์วัวน้อยและต้องใช้น้ำนมจากเกษตรกรในพื้นที่นอกเหนือจากในฟาร์ม ที่อาจทำให้เกิดปัญหาคุณภาพของนมแตกต่างกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 สถาบันเพื่อแก้ปัญหาโคนมและน้ำนมที่เกิดขึ้น” ศ.นพ.สุทธิพร กล่าว

รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยด้านการผลิตโคนมและน้ำนมที่มีคุณภาพ การสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร รวมถึงการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยรวมถึงคนทั่วโลกมีอัตราการบริโภคนมวัวที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนักวิจัยที่ทำวิจัยด้านโคเนื้อ โคนม รวมถึงกระบืออยู่พอสมควรจึงมั่นใจได้ว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรฟาร์มโคนมที่จะมีรายได้ที่มั่นคงจากผลผลิตที่มากขึ้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ด้วยงานวิจัย และในส่วนของประชาชนคนไทยที่จะได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี

"บริษัทซีพี เมจิ มีนโยบายในการวิจัยและพัฒนาน้ำนมดิบเบื้องต้นให้มีคุณภาพสูงควบคู่กับการผลิตที่สะอาดได้มาตรฐาน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนในปัจจุบันตั้งแต่เด็กจนถึงคนสูงวัยที่มีแนวโน้มการบริโภคนมวัวมากขึ้น โจทย์วิจัยสำหรับเมจิว่าจึงอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้นมวัวของไทยมีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่เป็นเพียงแค่การแข่งขันกับตลาดนมวัวพร้อมดื่มในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเซียน ที่ในขณะนี้ก็กำลังมีการพัฒนาน้ำนมวัวให้มีคุณภาพสูงขึ้นเช่นกัน เราในฐานะผู้ผลิตนมวัวของประเทศไทย จึงต้องพัฒนาเริ่มจากสายพันธุ์วัวก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าน้ำนมที่ออกมามีคุณภาพสูง ให้คนไทยมั่นใจได้ว่านมวัวของคนไทยมีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ"นายสุจริต มัยลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เผยในพิธี

ด้าน รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองหัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์ฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการทำวิจัยด้านโคนม โคเนื้อและกระบือค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ยังไม่เคยร่วมงานกับภาคเอกชน ทำให้บางโครงการอยู่เพียงในแผ่นกระดาษไม่ได้นำออกมาใช้จริง ผนวกกับก่อนหน้านี้ทางคณะได้เห็นการร่วมมือกันทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยเกษตรแห่งหนึ่งกับบริษัทผู้ผลิตนมพร้อมดื่มอันดับ 1 ของประเทศ ที่สนับสนุนให้เกิดยุวชนเกษตรรุ่นใหม่ที่เห็นค่าของการทำปศุสัตว์โคนม ด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยขอนแก่นประกอบกับการสนับสนุนให้เกิดการจับมือกับภาคธุรกิจของ วช.จึงเกิดเป็นควาร่วมมือกับบริษัท ซีพี เมจิ จำกัด เพื่อทำวิจัยและพัฒนาโคนมเพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพ และเพิ่มอัตราการติดลูกของแม่วัวนม โดยมีการดำเนินงานวิจัยแล้วตั้งแต่ปี 57 ที่ผ่านมา

“บริษัท ซีพี เมจิ เป็นผู้ผลิตนมวัวพร้อมดื่มใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแม่วัวนมทำให้กำลังการผลิตจากฟาร์มของบริษัทไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะผลิตได้เพียงแค่ 1 ใน 10 ส่วนของความต้องการเท่านั้น อีก 9 ส่วน ต้องรับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม”

รศ.ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า เพื่อให้นมวัวที่ผลิตได้มีคุณภาพตรงตามความต้องการ บริษัทฯ จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสายพันธุ์วัวของเกษตรกร ซึ่งวัวพันธุ์ขาวดำ หรือ โฮสตีน ฟรีเชียน (Holstein Friesian) ที่นิยมเลี้ยงกันมากเพราะให้ผลผลิตน้ำนมสูงมีปัญหาที่เป็นข้อด้อยอย่าวหนึ่ง คือ ติดลูกยาก ทำให้การผลิตน้ำนมวัวไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะแม่วัวที่จะผลิตน้ำนมให้นำมาใช้ได้จะต้องผ่านการตั้งท้องและตกลูก

"การทำงานวิจัยเพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่ของแม่วัว และเทคนิคการผสมพันธุ์ตรงตามช่วงเวลามาใช้จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม เพราะจะช่วยเพิ่มอัตราการติดลูกของแม่วัวให้เพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นจากเดิมที่มีโอกาสติดลูกเพียงแค่ 20-30 % เท่านั้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา บ.ซีพี เมจิ ได้ส่งนักวิจัยมาเข้าร่วมกับคณะทีมวิจัย ม.ขอนแก่น เพื่อลงพื้นที่สำรวจฟาร์มโคนม 33 ฟาร์มและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมใน ขอนแก่น, อุดรธานี และสกลนคร ซึ่งได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงของการทดลองใช้ คือ การเหนี่ยวนำให้ลูกในท้องของแม่วัวนมเป็นเพศเมีย เพราะสามารถนำมาขายเป็นแม่วัวพันธุ์ได้ราคาสูงถึง 5,000 บาทต่อ 1 ตัวแรกเกิดเพราะสามารถเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นแม่พันธุ์วัวนมได้ในอนาคต ในขณะที่ถ้าเป็นเพศผู้จะสามารถขายได้แต่ตัวละ 500 บาทเท่านั้น” ผู้ริเริ่มโครงการเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ผู้อำนวยการแต่ละฝ่ายพูดคุยกันหลังจบพิธีลงนาม
รศ.ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ รองหัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์ฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภายในงานวันนักประดิษฐ์  ซีพีเอฟได้ร่วมตั้งนิทรรศการปศุสัตว์ด้วย
ม.ขอนแก่นจัดซุ้มนิทรรศการนวัตกรรมโคนม ในงานวันนักประดิษฐ์ 58
ผู้อำนวยการหน่วยงานพันธมิตรด้านการวิจัยโชว์หนังสือลงนาม






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น