xs
xsm
sm
md
lg

ปลิดชีพ “ไข่แมลงวันทอง” ด้วยโรงอบไอน้ำ ดันมะม่วงน้ำดอกไม้ “โกเจแปน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ผ่านการจัดเกรดจะถูกนำมาหุ้มด้วยโฟมกันกระแทกก่อนบรรจุลงลัง
ตั้งโรงอบไอน้ำผลไม้ประจำภาคเหนือตอนบน ปลิดชีพ “ไข่แมลงวันทอง” ยกระดับมาตรฐานมะม่วงไทย เดินหน้าป้อนตลาดญี่ปุ่น ดึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาไข่แมลงวันทองแฝงผิวมะม่วง-ยืดอายุการเก็บ-คงคุณค่าสารอาหาร เพิ่มคุณค่าผลไม้ไทยบ้านๆ สู่ตลาดต่างชาติระดับไฮเอนด์



“ มะม่วงน้ำดอกไม้ ” ผลไม้ไทยแสนธรรมดาแต่รสชาติไม่ธรรมดา ด้วยเอกลักษณ์ของความหอมหวาน นุ่มละมุนลิ้นที่ถ้าหากใครได้ชิมก็ต้องติดใจ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ไม่ว่าคนไหนที่มีโอกาสได้มาเที่ยวประเทศไทยก็ต้องขอลิ้มลองผลไม้สีเหลืองทองนี้สักครั้ง ด้วยรสชาติที่หอมอร่อย และราคาที่ไม่สูงจนเกินไป จึงไม่แปลกที่ตอนนี้กระแสของมะม่วงไทยจึงเป็นที่นิยมไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์

เอกพล ทินวงส์ เกษตรกรชาวสวนมะม่วง บ้านซำบอน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เผยว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยในตอนนี้ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดผลไม้โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ในระดับที่ผลิตได้ไม่พอขาย เพราะมีรูปลักษณ์ที่สวยงงาม รสชาติที่โดดเด่นถูกปาก และยังไม่มีประเทศใดที่สามารถปลูกมะม่วงแล้วได้รสชาติดีเหมือนที่ปลูกในประเทศไทย ทำให้สวนที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 กว่า 40 ไร่ของเขา ผลิตเงินให้แก่ครอบครัวได้เป็นกอบเป็นกำ ถึงปีละเกือบ 2 ล้านบาท

เอกพลเล่าว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ในแต่ละพื้นที่จะมีความต้องการน้ำ และอุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยมะม่วงในสวนของเขาที่ จ.พิษณุโลก ชอบพื้นที่ที่มีอากาศร้อนตอนกลางวันและเย็นตอนกลางคืน ชอบน้ำน้อย ไม่ชอบฝน และเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นที่มีอายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป จนถึงประมาณ 30 ปีจึงจะไม่ออกดอกอีก หน้าของมะม่วงที่จะมีผลให้ได้เก็บเกี่ยวกันนั้นจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. ถึง พ.ค. ที่ถ้าหากมีการบำรุง หรือให้ปุ๋ยดีๆ มะม่วง 1 ต้นอาจให้ผลได้มากถึง 600-700 ผล ซึ่งเกษตรกรจะแบ่งเก็บขายได้ประมาณถึง 2-3 รอบต่อปี

ทว่า การเพาะปลูกก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะมะม่วงน้ำดอกไม้ก็มีคู่อริที่สำคัญ คือ แมลงวันทอง ที่มักจะมาเจาะที่ผิวมะม่วงเพื่อวางไข่ ทำให้ผลมะม่วงไม่สวยงาม รวมไปถึงเพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้งที่จะมาเกาะกินน้ำเลี้ยงจากผลมะม่วง ทำให้เกิดปัญหากับการส่งออกเพราะในบางประเทศเข้มงวดมากกับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่อาจปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอม

“มะม่วงน้ำดอกไม้ของเรามีหลายเกรด เกรดเอ คุณภาพดีที่สุดจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 105 บาท แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่มีความต้องการมากๆ ก็จะพุ่งไปถึงเกือบๆ 140 บาท แต่เราก็มีต้นทุนสูงเช่นกัน เพราะศัตรูที่สำคัญ คือ แมลงวันทองที่จะมาไข่ทิ้งไว้ที่บริเวณผิวมะม่วง รวมไปถึงเพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ เราจึงต้องใช้ถุงกระดาษคาร์บอนคลุมไปที่ผลมะม่วงแต่ละลูกเพื่อกันแมลงพวกนี้และทำให้ผิวมะม่วงมีสีเหลืองทองสวย ซึ่งแต่ละถุงมีต้นทุนอยู่ที่ 1.65 บาท ทำให้ต้นทุนรวมถึงค่าปุ๋ย และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำสวน 50 ไร่อยู่ที่ประมาณ 4 แสนบาท แต่ตอนนี้ก็กำลังมีการจัดทำโรงอบไอน้ำผลไม้ที่ จ.แพร่ ก็คิดว่าอาจจะทำให้ต้นทุนลดลงได้บ้าง เพราะมะม่วงจะถูกส่งไปอบไอน้ำได้ง่ายขึ้นซึ่งหลังจากอบไอน้ำและห่อบรรจุภัณฑ์เสร็จจะสะดวกต่อเราด้วยเพราะจะส่งออกไปขายได้เลยผ่านทางสนามบินเชียงใหม่” เอกพลระบุ

ด้านตัวแทนผู้ส่งออกผลไม้ไทยในประเทศญี่ปุ่น นางพิมใจ มัสซูโมโต ประธานกรรมการบริหาร บ.พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด กล่าวว่า ตลาดการส่งออกผลไม้ไทยในขณะนี้อยู่ในอัตราที่สูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของมะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอมทอง และส้มโอ ในขณะที่เกษตรกรชาวไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อส่งออกอัตราการส่งออกสูงสุดคิดเป็นแค่ 20% อีกทั้งยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เข้มงวดมากด้านไข่แมลงที่ติดไปกับผลไม้ และปริมาณสารเคมีตกค้าง

"ญี่ปุ่นเข้มงวดมากกับมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของแมลงวันทองที่อาจแฝงไปกับตัวผลไม้ในรูปของไข่ ตัวผู้ประกอบการจึงต้องหาวิธีที่จะจัดการกับไข่แมลงวันทองด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การอบไอน้ำผลไม้เพื่อให้ไข่ฝ่อ และการอาบรังสีเพื่อให้คลื่นไฟฟ้าแม่เหล็กทำให้ไข่เสื่อมสภาพ แต่วิธีอาบรังสีก็เป็นวิธีต้องห้ามสำหรับการนำเข้าสินค้าในหลายๆ ประเทศอีกเช่นกัน ด้วยประสบการณ์ที่ฉันอยู่ที่ญี่ปุ่นมากว่า 30 ปี ได้เห็นเทคโนโลยีล้ำๆ ด้านการแก้ปัญหาเหล่านี้มากมาย ฉันจึงผลักดันให้มีการนำเครื่องอบไอน้ำผลไม้มาใช้ที่ไทย ซึ่งในขณะนี้ที่กรุงเทพฯ มีอยู่แล้วทั้งสิ้น 7 โรงอบ และโรงอบที่ จ.แพร่ อีก 1 โรงซึ่งถือว่าเป็นโรงอบไอน้ำที่มีเครื่องอบไอน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด" นางพิมใจ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้การอบผลไม้ด้วยไอน้ำเพื่อการส่งออก" จ.แพร่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และการจัดการผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ที่นิยมปลูกมากทางแถบภาคเหนือ ที่จะถูกส่งออกโดยตรงจากสนามบินเชียงใหม่โดยตรง และได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบล อ.แม่จั๊วะ, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (อวน.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการจัดตั้งโรงงานและนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับชุมชน และ บ.พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีเครื่องอบไอน้ำจากประเทศญี่ปุ่นมาสู่ประเทศไทย

ด้าน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการลงพื้นที่ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ทำให้ทราบว่าในพื้นที่ จ.แพร่ และจังหวัดใกล้เคียงมีการปลูกมะม่วงเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาที่รอการแก้ไข คือเรื่องของไข่แมลงวันทองที่อาจติดไปกับผิวมะม่วงทำให้การส่งออกทำได้ไม่เต็มที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมอบหมายมายัง อวน.เพื่อให้ประเมินความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ ควบคู่กับการจัดตั้งโรงงาน และการนำงานวิจัยลงสู่ชุมชนโดย วว.

"ที่ผ่านมา วว.โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราได้พยายามนำองค์ความรู้งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาทางการเกษตร เช่น การอบลำไยด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังที่เคยได้เห็นกัน คราวนี้เป็นในส่วนของการมุ่งเข้าไปแก้ปัญหาให้แก่ชุมชนภาคเหนือตอนบน เพื่อช่วยลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ เพิ่มคุณค่าและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของผลไม้ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน" นายยงวุฒิกล่าว

ในส่วนของ ดร.พิศุทธิ์ อาคม นักวิจัยฝ่ายวิศวกรรม วว. อธิบายว่าเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือของ วว.และเอกชนในครั้งนี้นอกจากจะช่วยยกระดับวงการมะม่วงน้ำดอกไม้แล้ว ยังช่วยให้คนในพื้นที่มีงานทำ เพราะภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ จะประกอบไปด้วยแผนกต่างๆ ที่ต้องใช้แรงงานจากคนในพื้นที่มาช่วยตั้งแต่กระบวนการเด็ดขั้วมะม่วงก่อนผ่านการล้างด้วยคลอรีน และแช่น้ำอุณหภูมิสูง 50 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่จะนำมาวางเรียงใส่กล่องบรรทุกมะม่วงเป็นแนวตั้ง 60 องศาเพื่อให้มะม่วงสามารถคายน้ำได้ก่อนที่จะส่งเข้ายังเคริ่องอบไอน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถรับมะม่วงเข้าอบได้มากถึง 5 ตันต่อครั้ง

ดร.พิศุทธิ์ อธิบายว่า การอบไอน้ำให้กับมะม่วงต้องควบคุมให้อุณหภูมิภายในตัวเครื่องให้ได้ไม่ต่ำกว่า 47 องศาเซลเซียสทั่วถึงกันตั้งเปลือกมะม่วงจนถึงเมล็ดมะม่วง เพราะเป็นอุณหภูมิที่ผ่านการวิจัยแล้วว่า จะทำให้ไข่แมลงวันทองฝ่อได้โดยมะม่วงยังคงมีรสชาติและปริมาณสารอาหารคงเดิม อีกทั้งยังทำให้มะม่วงสุกพร้อมกันทั้งลูก ไม่เกิดปัญหาหัวลูกหวานปลายลูกเปรี้ยว ซึ่งการนำมะม่วงเข้าอบแต่ละครั้งมีมะม่วงที่ถูกสุ่มขึ้นมาเพื่อเสียบแท่งเซนเซอร์เข้าไปที่กลางผลมะม่วง เพื่อให้ผู้ควบคุมเครื่องทราบว่าผลไม้แต่ละรอบได้รับการอบไอน้ำทั่วถึง โดยใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง จากนั้นจึงเข้าสู่การชั่งน้ำหนักแต่ละผลเพื่อรอการบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งขายต่อ

ท้ายสุด ดร.พิศุทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เทคโนโลยีและเครื่องอบไอน้ำที่นำมาใช้เป็นเครื่องของประเทศญี่ปุ่น แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ วว.ก็มีแผนที่จะสร้างเครื่องอบไอน้ำลักษณะคล้ายแบบนี้โดยฝีมือจากนักวิจัยของ วว.เองเช่นกัน โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีแผนการจัดตั้งโรงอบไอน้ำแห่งใหม่ ที่ อ.ลำตะคอง จ.นครราชสีมาด้วย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการขนส่งผลไม้จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายังกรุงเทพฯ

สำหรับ "ศูนย์การเรียนรู้การอบผลไม้ด้วยไอน้ำเพื่อการส่งออก" จ.แพร่ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 58 และพร้อมเปิดรับผลผลิตมะม่วงจากผู้ประกอบการเข้าสู่โรงงานแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
มะม่วงถูกบรรจุเตรียมส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น
มะม่วงเกรดที่คัดขายจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ ผิวเนียนสวย
ขั้นตอนการตัดขั้ว
ขั้นตอนการแช่น้ำอุณหภูมิ 50 องศาเพื่อฆ่าเชื้อโรค
ดร.พิศุทธิ์ โชว์การเสียบแท่งเซนเซอร์เข้าผลมะม่วงก่อนนำเข้าเครื่องอบ
ห้องควบคุมอุณหภูมิเครื่องอบไอน้ำ
ร่องรอยการเสียบแท่งเซนเซอร์ เพื่อตรวจสอบการเข้าถึงอุณหภูมิ
มะม่วงแต่ละผลจะถูกชั่งน้ำหนักเพื่อคัดขนาด
เอกพล ทินวงส์ เกษตรกรชาวสวนมะม่วง บ้านซำบอน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
นางพิมใจ มัสซูโมโต ประธานกรรมการบริหาร บ.พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว.
ดร.พิศุทธิ์ อาคม นักวิจัยฝ่ายวิศวกรรม วว.
มะม่วงน้ำดอกไม้รสเปรี้ยวอมหวาน เนื้อเยอะ เมล็ดเล็ก
ถุงกระดาษคาร์บอนถูกนำมาห่อผลมะม่วงเพื่อป้องกันการวางไข่ของแมลงวันทอง และเร่งให้ผลมะม่วงมีสีเหลืองทอง
ต้นมะม่วงถูกตัดแต่งให้เป็นพุ่มเตี้ย เพื่อให้ออกดอกเยอะ มีผลผลิตมาก






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น