xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ต้องส่งนักวิจัยไปอินเดีย-อินโดตั้ง "ศูนย์ไพรเมทแห่งชาติ" หวัง 9 วัคซีนราคาถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้แทนจาก 4 หน่วยงานพันธมิตรลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ
ไม่ต้องส่งนักวิจัยไปไกลถึงอินเดีย-อินโด เดินหน้าจัดตั้ง "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" เลี้ยงลิง 3 สายพันธุ์ ตั้งเป้าผลิต 9 วัคซีนราคาถูกพิชิต 7 โรคร้ายได้ในอีก 10 ปี เตรียมโรงเลี้ยงลิงพร้อมห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมผลิตลิงเพื่อการวิจัยส่งออก มุ่งเป็นฐานข้อมูลวานรระดับอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ” ณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 58

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะงานวิจัยด้านสุขภาพ ซึ่งการใช้สัตว์ทดลองถือเป็นอีกข้อต่อสำคัญสำหรับการทำวิจัย จึงเกิดความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ” ณ โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

นายเชษฐพงษ์ บุตรเทพ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า วช.ให้การสนับสนุนศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี'55 ในส่วนของครุภัณฑ์และส่วนของการก่อสร้างให้ตรงไปตามมาตรฐาน โดยสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาทเพื่อให้โครงการจัดตั้งศูนย์ฯ ลุล่วงไปได้โดยเร็วเพื่อให้ทันต่อความต้องการวัคซีนที่เป็นจุดมุ่งหมายจากการวิจัยในไพรเมท ซึ่งในขณะนี้ศูนย์วิจัยฯ ที่ จ.สระบุรี สำเร็จไปแล้วกว่า 60% ในส่วนของอาคารเลี้ยงและห้องปฏิบัติการ เหลือเพียงแค่ส่วนของโรงอนุบาลที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน มิ.ย.58

"หากมองไปในอนาคตทางด้านสาธารณสุข จะเห็นว่าโรคติดต่อมีมากขึ้นทุกวัน เราจึงต้องพัฒนาวัคซีนให้เท่าทันต่อการระบาดของโรค ซึ่งประเทศไทยและส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง มีนักวิจัยที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะผลิตวัคซีนแต่ยังขาดโซ่ข้อกลางที่จะทำให้การผลิตวัคซีนประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือการทดลองในสัตว์ทดลองซึ่งก็คือในกลุ่มไพรเมทที่มีความใกล้เคียงในหลายๆด้านคล้ายกับคน" นายเชษฐพงษ์กล่าว

ทว่า ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าในประเทศไทยกลับไม่มีศูนย์วิจัยทางด้านไพรเมทเลย แม้จะมีความพร้อมในหลายๆ ด้านและมีลิงในประเทศไทยจำนวนมากถึง 14 ชนิด จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยควรที่จะมีศูนย์วิจัยทางด้านไพรเมทขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้จุฬาฯ และ วช.ได้ร่วมมือกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในวันนี้มีพันธมิตรทางด้านของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้ามาสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินการ เขาจึงมั่นใจว่าศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติจะประสบความสำเร็จได้โดยเร็ว

ด้าน นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถาบันฯ ต้องผลิตวัคซีนโดยการนำไปทดลองกับสัตว์ไพรเมทในศูนย์วิจัยสัตว์ทดลองในต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะในประเทศไทยยังไม่มีศูนย์วิจัยที่รองรับต่อการทดลองวัคซีนที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้การจะผลิตวัคซีนชนิดหนึ่งต้องเสียงบประมาณการวิจัยไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากที่ประเทศไทยจะต้องเสียให้กับต่างประเทศ เขาเชื่อว่าการตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทจะลดต้นทุนการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนของประเทศไทย

"เดิมทีเราต้องส่งนักวิจัยไปทำวัคซีนกับสัตว์ทดลองในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีห้องปฏิบัติการทางด้านไพรเมทที่มีความพร้อม แต่ในวันนี้เรากำลังจะมีศูนย์วิจัยไพรเมทที่มีมาตรฐานระดับสากลและเป็นของคนไทยเอง จึงมั่นใจได้ว่านอกจากวงการวานรศึกษาที่จะก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วแล้ว วงการวัคซีนก็จะพัฒนาควบคู่ไปด้วย สอดรับกับนโยบายวัคซีนแห่งชาติของรัฐบาล โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะอยู่ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ที่คาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า จะสามารถผลิตวัคซีนฝีมือคนไทยที่มีราคาถูกลงได้ถึง 9 วัคซีนในการรักษาโรค 7โรค คือ โรคมือเท้าปาก, คอตีบ, ไอกรน, บาดทะยัก, ไข้เลือดออก, ไข้สมองอักเสบและไข้หวัดใหญ่" ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
(ซ้าย)ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. (ขวา) ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การลงนามความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน
(ซ้ายสุด) นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น