xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะทำได้ “เครื่องผ่าจาวตาล” ไม่ต้องเสี่ยงนิ้วขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาวตาลที่แกะเรียบร้อยแล้ว
กว่าจะเป็น “จาวตาลเชื่อม” ของหวานแสนอร่อยของโปรดใครหลายๆ คน ที่จิ้มเข้าปากคราวใดก็มีแต่ความนุ่มละมุนลิ้น เคยรู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเปลือกของมันกลับแข็งเสียยิ่งกว่ากะลามะพร้าว ต้องผ่านกรรมวิธีเสี่ยงอันตรายกว่าจะมาเป็นเนื้อจาวตาลหอมหวานให้ทุกคนได้ลิ้มลองกัน

สันธิพงศ์ หนูสุข ปวส.ปี 2 ไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นอกจากยางพารา มะพร้าว และปาล์มน้ำมัน ตาลโตนดยังเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกมากทางภาคใต้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน เช่น ไม้ตาลนิยมนำมาสร้างบ้าน น้ำหวานจากดอกตาลนิยมนำมาทำเป็นน้ำตาล แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ จาวตาล ที่นิยมนำมาประกอบอาหารคาวหวานหลากชนิด โดยเฉพาะจาวตาลเชื่อม

สันธิพงศ์ อธิบายว่า จาวตาล คือ อาหารของต้นอ่อนตาลโตนด ซึ่งกินสดๆ ได้เช่นเดียวกับจาวมะพร้าว แต่กว่าจะนำมากินต้องลำบากพอควร เพราะ จาวตาลมีเปลือกแข็งชั้นนอก คล้ายกะลามะพร้าว การนำจาวตาลออกมาจึงต้องอาศัยความชำนาญพอควร แถมยังเสี่ยงกับอันตรายจากความผิดพลาดในการใช้มีด

“ตาลโตนดแถวบ้านผมปลูกเยอะมากครับ แต่กว่าจะได้กินจาวก็ต้องเฉาะเอา ใช้พร่า หรือมีดนี่แหละเฉาะเปลือกจาวลงไป ค่อนข้างน่าหวาดเสียวและอันตรายมากสำหรับมือใหม่ ดีไม่ดีอาจนิ้วขาดหรือพิการได้เลย แล้วที่สำคัญผ่าออกมาก็การันตีไม่ได้ด้วยว่าจาวตาลจะสวยมั้ย ถ้าไม่สวยก็เอาไปทำจาวตาลเชื่อมไม่ได้ราคา มันควบคุมอะไรไม่ได้เลย อยู่ที่ทักษะล้วนๆ” สันธิพงศ์ เผย

เป็นที่มาของการประดิษฐ์เครื่องผ่าจาวตาล เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน โดยสันธิพงศ์ระบุว่าเขาและเพื่อนใช้เวลาเพียง 1 เทอมเท่านั้นในการพัฒนาเครื่อง เพราะเลียนแบบวิธีการทำ จากการผ่าจาวตาลของชาวบ้านทั่วไปที่ต้องทำให้ตัวเปลือกแยกออกจากกันทีละน้อย แล้วจึงแกะจาวตาลออกจากเปลือก

ด้านเจ้าของผลงานอีกคน อย่าง สุริยา ไทยเกิด ปวส.ปี 2 ไฟฟ้ากำลัง อธิบายว่า กลไกการทำงานของเครื่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วนผ่าเมล็ดลูกตาล และส่วนงัดจาวตาล โดยเริ่มจากนำเมล็ดลูกตาลใส่ในชุดจับยึดให้แน่น แล้วเปิดสวิทช์ให้ใบมีดหมุน จากนั้นจึงค่อยๆ หมุนรอบเมล็ดลูกตาลเพื่อหมุนกะลาให้ถึงเนื้อเมล็ดลูกตาล จากนั้นจึงนำเมล็ดลูกตาลย้ายมาที่เครื่องง้างเพื่อนำจาวตาลออกมา

“มันค่อนข้างซับซ้อนครับ กว่าจะได้แต่ละอัน แต่เมื่อเทียบกับการผ่าด้วยคนแล้วก็เร็วกว่าถึง 3 เท่าแล้วที่สำคัญคือไม่อันตราย แล้วพอเอาไปให้ชาวบ้านลองใช้ก็ดูชอบกันมาก เพราะเฉลี่ยการแกะแต่ละครั้งด้วยเครื่องตกอยู่ที่เกือบๆ 2 นาทีแต่ถ้าใช้แรงงานคนก็อยู่ที่ 3 นาทีขึ้นไป โดยเครื่องที่เราพัฒนาขึ้นนี้จะใช้มอเตอร์เป็นต้นกำลังเพื่อหมุนใบมีดคล้ายกับการทำงานของเลื่อยวงเดือน อีกทั้งยังมีระบบเซฟตี้ที่จะยอมให้ใบมีดทำงานเมื่อกระจกครอบปิดลงแล้วเท่านั้น” สุริยา กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

สุริยา กล่าวทิ้งท้ายว่า เครื่องผ่าจาวตาลที่ทำขึ้นนี้เสร็จมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีออกจำหน่ายหรือได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการรายใด เพราะยังต้องการพัฒนาอีกมาก โดยในอนาคตมีโครงการจะพัฒนาให้เครื่องมีขนาดเล็กลงและใช้งานได้ง่ายขึ้นแต่สำหรับการทำให้ผ่ากะลาลูกตาลได้ทีละหลายๆ อันยังทำไม่ได้ เพราะกะลาลูกตาลแต่ละอันมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน
ขั้นตอนการใช้เครื่องผ่าจาวตาล
เครื่องง้างกะลาลูกตาล
กะลาลูกตาลมีความแข็งคล้ายกะลามะพร้าว
 สุริยา ไทยเกิด (ซ้าย) สันธิพงศ์ หนูสุข (ขวา)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น