“ ปาล์มทะลายหนึ่งน้ำหนักเยอะไม่ใช่เล่น จะขนย้ายยังไงให้ไม่ให้ปวดหลัง?” นักศึกษาเทคนิคสตูลได้แรงบันดาลใจจากคีมคีบน้ำแข็ง พัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับหยิบ และเคลื่อนย้ายทะลายปาล์มน้ำมันแก้ปัญหาเรื่องใกล้ตัว ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ฝีมือเด็กอาชีวะไทยใช้ได้จริง
นายซาฟาอี ยุเหล่ นักศึกษา ปวส.ปี 1 ฝ่ายช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า “ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ปลูกมากในภาคใต้ เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จะตัดทะลายปาล์มลำเลียงขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปหีบยังโรงงานน้ำมันปาล์ม แต่กว่าจะได้เงินมาก็ต้องแลกกับความปวดเมื่อย เพราะปาล์มแต่ละทะลายมีน้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม อีกทั้งเครื่องมือเหล็กแหลมที่ใช้ในการขนย้ายอย่าง “ฉมวก” ก็ไม่ช่วยผ่อนแรงแถมยังใช้ลำบากเพราะต้องใช้แรงจากร่างกายทั้งตัวเพื่อขนส่งปาล์มในแต่ละครั้ง
ซาฟาอี กล่าวว่า จากสาเหตุข้างต้นทำให้คนในครอบครัว และชาวบ้านที่เป็นชาวสวนปาล์มอีกหลายๆ คนมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลัง เกิดความปวดเมื่อยจากการเก็บและเคลื่อนย้ายทะลายปาล์มอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับที่ทะลายปาล์มมีหนามอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อต้องเรียนวิชาโครงงานสิ่งประดิษฐ์ที่วิทยาลัยฯ เขาจึงนำปัญหาที่เขาเจอมาเป็นโจทย์สิ่งประดิษฐ์และร่วมมือกับเพื่อนจนเกิดการสร้างเครื่องมือหยิบและขนย้ายทะลายปาล์มขึ้น
ซาฟาอี เผยว่า เขาและเพื่อนๆ ในกลุ่มได้แนวคิดการประดิษฐ์เครื่องย้ายทะลายปาล์มมาจาก “คีมคีบน้ำแข็ง” ที่เป็นขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่คีบแล้วปล่อย จึงค่อยๆ ร่างแบบและผลิตตัวเครื่องต้นแบบออกมา โดยใช้โลหะราคาถูกแต่มีความทนทาน ซึ่งมีเหลือใช้เป็นจำนวนมากที่วิทยาลัย ผ่านการลองผิดลองมาถูกเรื่อยๆ ใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็ประสบความสำเร็จ จนได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพแต่มีน้ำหนักเบา ที่สามารถยกทะลายปาล์มได้ตั้งแต่ 3-50 กิโลกรัม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวสวนปาล์ม แต่ก็ยังมีปัญหาบางประการที่ยังต้องแก้ไข อาทิ ใช้โยนทะลายปาล์มยังไม่ได้ ซึ่งข้อแก้ไขตรงนี้จะนำไปพัฒนาต่อในอนาคตโดยรุ่นน้องของพวกเขา
“ผมคิดง่ายๆ เลยครับ คือทะลายปาล์มมันหนัก ถึงจะไม่หนักมากแต่ยกเยอะๆ ก็ปวดหลัง ผมเลยอยากทำเครื่องที่ทำให้ยกทะลายปาล์มได้ง่ายขึ้น เพราะฉมวกที่ชาวใต้ใช้มันก็เป็นแค่แท่งเหล็กแข็งๆ ซึ่งต้องใช้แรงและความชำนาญในการยกแล้วเคลื่อนย้าย ซึ่งเครื่องแบบใหม่ที่ทำขึ้นจะช่วยให้ชาวสวนหยิบเคลื่อนย้ายทะลายปาล์มได้สะดวก สามารถขนย้ายได้ทีละมากๆ ทำให้ชาวสวนปาล์มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมันก็หมายถึงคนในครอบครัวผม คนในหมู่บ้านผมนี่แหละ ที่น่าจะมีความสุขมากขึ้น” ซาฟีอี นักเรียนอาชีวะสตูลผู้มีพื้นฐานครอบครัวเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ผู้ประกอบธุรกิจปาล์มน้ำมัน กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ทั้งนี้ผลงานเครื่องยกและเลื่อนย้ายทะลายปาล์ม ยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับอาชีวศึกษาภาคใต้ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย
*******************************