ดินมีหลายชนิด แต่ละชนิดลักษณะไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังพบสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายแตกต่างกันไปในดินแต่ละชนิดด้วย ทำความรู้จักดินให้มากขึ้น เพื่อการใช้ประโยชน์ได้ตรงตามคุณลักษณะดิน ร่วมกับเยาวชนที่ได้เรียนรู้ในช่วงวันเด็กที่ผ่านมา
ทำความรู้จักรายละเอียดของดินชนิดต่างๆ ผ่าน “ลานกิจกรรมขุดคุ้นลุยดิน” กิจกรรมโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ภายในงาน “ถนนสายวิทยาศาสตร์” ซึ่งจัดขึ้นรับวันเด็กระหว่าง 8-10 ม.ค.58 โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ทั้งนี้ ในปี 2558 สหประชาชาติประกาศให้เป็น “ปีดินสากล” (International Year of Soils) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พาไปขุดคุ้ยในกระบะดิน 3 ชนิดร่วมกับเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เริ่มกันที่ “กระบะดินเหนียว” ที่เหนียวสมชื่อเล่นเอาเด็กเล่นไป ปาดเหงื่อไปตามๆ กัน เพราะดินเหนียวเป็นดินเนื้อละเอียดที่เกิดจากตะกอนทับถม ประกอบด้วยแร่เคโอลิไนต์ (Kaolinite) เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงควอร์ตซ์ (Quartz) เหล็กออกไซด์ (Iron qxide) และสารอินทรีย์ที่ปะปนอยู่
ดินเหนียวเป็นดินเนื้อละเอียด มีการระบายน้ำและอากาศได้ไม่ดี มีคุณสมบัติอุ้มน้ำ ดูดยึดและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารในพืชได้อย่างดีเยี่ยม เหมาะในการทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บกักน้ำได้ดี และเมื่อนำมาผสมระหว่าดินเหนียวและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะสามารถนำมาปั้น เป็นรูปทรงต่างๆ ได้ และเมื่อนำไปเผาจะแปรสภาพเป็นวัตถุแข็ง ไม่เปลี่ยนรูปเกิดเป็นเครื่องปั้นดินเผา เซรามิกส์
“พี่ครับ ทำไมสีดินมันไม่เหมือนกัน” เด็กชายตัวเล็กที่นั่งเล่นดินเหนียวอยู่สักครู่ ยกพลั่วที่มีดินเหนียวต่างสีถามเจ้าหน้าที่ ก็ได้คำตอบว่า เกิดจากแร่ธาตุชนิดต่างๆ ในดินมีไม่เท่ากัน ทำให้เกิดดินเป็นสีต่างๆ ทั้ง สีดำ เทา ครีม และน้ำตาล ส่วนดินที่มีสีเข้มจะมีอินทรีย์วัตถุปนอยู่มาก ส่วนดินที่มีสีครีมหรือสีน้ำตาลมาจากแร่เหล็กที่ปะปนอยู่ โดยสิ่งมีชีวิตที่พบในดินเหนียวจะเป็นสัตว์จำพวกไส้เดือน มด ตะขาบ และหนอนชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์หน้าดิน อาทิ แมงมุม ทาก และหอยทาก แต่เด็กน้อยส่วนใหญ่มักจะขุดหากันไม่เจอเพราะหมดแรงขุดกันไปเสียก่อน
กระบะถัดมาเป็นดินทรายสีส้มน้ำตาลที่เด็กๆ ดูจะให้ความสนใจผลัดเปลี่ยนกันมาคุ้ยเล่นอย่างสนุกสนานเพราะเหมือนเล่นทรายอยู่ริมทะเล ดินทรายเกิดจากการกร่อนของหินทราย มีแร่ควอร์ตซ์ (Quartz) เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้เนื้อดินมีความหยาบ มีความร่วนสูง เพราะประกอบด้วยทรายถึง 70% มีคุณสมบัติน้ำและอากาศซึมผ่านได้ง่ายมาก และมีอินทรีย์วัตถุต่ำจึงไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกทั่วไป แต่ก็มีพืชบางชนิดที่เจริญได้ดีเช่น กระบองเพชร มันสำปะหลัง โดยสิ่งมีชีวิตที่พบมักเป็นแมลงขนาดเล็ก อาทิ แมลงช้าง มดแดง และมดดำ
กระบะสุดท้าย คือกระบะของดินร่วนสีดำสนิท ทีมข่าววิทยาศาสตร์สังเกตว่าเด็กๆ ชอบกระบะนี้เป็นพิเศษ เพราะดินร่วนมีความหนุ่มที่พอดี ไม่เหนียวเกินไป ไม่ร่วนเกินไป ทำให้สามารถเล่นขุ้ยดินได้อย่างสนุกสนาน ดินร่วนเกิดจากส่วนผสมของดินเหนียวและดินทราย มีความร่วนซุย มีช่องระบายอากาศที่พอเหมาะ ดังนั้น การซึมน้ำของดินร่วนจึงไม่เร็วมาก การอุ้มน้ำน้อยกว่าดินเหนียว ทำให้เป็นดินที่เหมาะกับการปลูกพืชทั่วไปมากที่สุด
เจ้าหน้าที่อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า สีของดินยังสามารถบ่งบอกถึงคุณค่าอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ ถ้าดินมีสีเข้มแปลว่ามี “ฮิวมัส” ที่เป็นอินทรียสารในดินสูง แต่ถ้าสีจางก็แสดงว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อย ต้องรีบใส่ปุ๋ย หรือปรับสภาพดิน โดยสิ่งมีชีวิตพี่พบในดินร่วนจะมีความหลากหลาย เพราะมีความเหมาะสมของการอยู่อาศัย และการหาอาหาร สัตว์ที่พบเห็นจากดินร่วนจึงมีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งมด ปลวก กิ้งกือ ตะขาบ และงู ที่ทำเอาเด็กๆ ขุดไป กลัวไป แม้สัตว์ในกระบะจะเป็นของปลอมทั้งหมด นอกจากนี้ในดินร่วนยังเหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ เพราะมีอากาศถ่ายเทและมีความชื้นสูง
ถัดจากลานดินแสนสนุก เดินเข้ามาอีกนิดก็จะเป็นส่วนของลานกิจกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของดินชนิดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าถูกแบ่งเป็น 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ กิจกรรมปั้นดินเหนียว กิจกรรมโรยทรายสี และกิจกรรมปลูกพืช แล้วแต่ความสมัตรใจของเด็กๆ ว่าจะเลื่อกเล่นกิจกรรมไหน
กิจกรรมปั้นดินเหนียว เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างได้รับความสนใจจากเด็กโต เพราะต้องใช้สมาธิและความคิดสร้างสรรค์สูง โดยน้องๆ จะได้รับก้อนดินเหนียวคนละ 1 ก้อน เพื่อนำไปปั้นเป็นสิ่งต่างๆ แบบที่ตัวเองต้องการบริเวณโต๊ะปั้นพร้อมกับอุปกรณ์ช่วยปั้น และอุปกรณ์ทำลวดลายดินแบบต่างๆ ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่บริการห่อกลับบ้านเพื่อนำไปตากแดดเป็น ผลงานปูนปั้นของตัวเองได้
น้องบิลกิส หรือ ด.ญ.กุลิศรา มานะเอม นักเรียนชั้นป.4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เธอมานั่งปั้นดินอยู่ตรงนี้ได้สักพักหนึ่งแล้ว และมีความสุขมากเพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยเห็นจากที่อื่น ได้ออกแบบได้ปั้นดินตามที่เธอจินตนาการและยังได้เรียนรู้ว่าดินแต่ละชนิดมี ประโยชน์อะไรบ้าง สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง การปั้นดินที่เธอทำอยู่นี้ก็เป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่ได้จากดินเหนียว ซึ่งเธอเคยเห็นการทำแบบนี้มาก่อนตอนไปเที่ยวที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผา วันนี้มาโอกาสได้ปั้นดินเธอจึงอยากลองทำดู
ส่วนกิจกรรมของดินทรายเจ้าหน้าที่บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะใช้เวลาน้อยกว่าและไม่เปรอะเปื้อนเท่าการปั้นดินเหนียว โดยเด็กๆ จะได้รับกระดาษที่มีลวดลายต่างๆ พร้อมกับกาวและทรายสีหลากชนิด เมื่อทากาวลงไปให้พอหมาดแล้วโรยทรายสีต่างๆ ลงไป รอให้แห้ง น้องๆ ก็จะได้ผลงานศิลปะจากทรายฝีมือตัวเองชิ้นเดียวในโลกกลับไปอวดคุณพ่อคุณแม่ ได้อย่างภาคภูมิใจ
ในส่วนของดินร่วนจะเป็นโต๊ะกิจกรรมเล็กๆ สำหรับเด็กที่ไม่มีเวลามากนัก ให้น้องๆ สามารถมารับแก้วพลาสติกบรรจุดินแล้วปลูกต้นไม้เองได้ โดยมีเมล็ดพันธุ์ให้เลือกมากมาย อาทิ โหระพา, พริกขี้หนู, บานชื่น และเบญจมาศ ให้เด็กๆ นำกลับไปปลูกต่อได้ตามอัธยาศรัย ซึ่ง 1 ในเด็กหญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง น้องบีม หรือ ด.ญ.ณัฐชมธร นรินทรางกูล ณ อยุธยา นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนกสิณธรเซนต์ปีเตอร์ ก็ได้เลือกปลูกโหระพา เพราะเป็นผักที่กินได้ ปลูกง่ายและโตไว โดยเธอยังระบุอีกด้วยว่า คุณยายของเธอจะพามาร่วมกิจกรรมถนนสายวิทยาศาสตร์ เป็นประจำทุกปี เพราะมีกิจกรรมให้เล่นมากมาย และมีอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี
*******************************