xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: วัยเด็กของนักวิทยาศาสตร์รุ่นโต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“โตขึ้นหนูอยาก เป็นนักวิทยาศาสตร์” คำตอบยอดฮิตของเด็กตัวน้อยที่มักได้ยินเมื่อมีกิจกรรมให้ร่วมตอบคำถามใน กิจกรรม “วันเด็กแห่งชาติ” แต่จะมีสักกี่คนที่ยังคงความฝันวัยเด็กจนโตขึ้นกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ตอนเด็กๆ ความจริงแล้วเป็นเด็กแบบไหน ? หรือพวกเขามีจุดพลิกผันอะไรทำให้มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ .. ที่นี่มีคำตอบ






SuperSci สัปดาห์นี้พาไปย้อนวันวานกับนักวิทยาศาสตร์ 3 ท่าน ถึงวีรกรรมวัยกระเตาะที่ทำให้พวกเขาและเธอกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบ ความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เขามีความสนใจและอยากเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คือความตื่นตาตื่นใจจากงานวันเด็กในปีหนึ่ง ที่มีการจัดแสดงเครื่องบินรบแบบต่างๆ จำนวนมาก ณ ฐานทัพอากาศดอนเมือง และความสงสัยในสิ่งรอบๆ ตัวเช่น กลไกการก่อสร้าง และเครื่องจักรกลต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกสนใจและหันมาอ่านหนังสือค้นคว้าหาความรู้ทางด้านวิศวกรรม ศาสตร์ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน

“ตอนยังเป็นเด็กอยู่ที่บ้านมีโอกาสได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งการก่อสร้าง เครื่องจักรต่างๆ และช่าง ซึ่งผมเชื่อว่านี่แหละคือเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ แล้วที่สำคัญคือวันเด็ก ซึ่งตอนนั้นผมคงจะเล็กมากผมได้ไปดูกิจกรรมที่ดอนเมือง เห็นเครื่องบินเจ็ทที่ทหารใช้ เลยทำให้สนใจอ่านหนังสือชัยพฤกษ์ หนังสือเกี่ยวกับช่างอากาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วพอยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งรู้ว่าวิทยาศาสตร์ คือทุกส่วนรอบตัว และเป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้” รศ.ดร.ศักรินทร์ เผย

ด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เผยว่า ตอนเด็กๆ เธอมีวีรกรรมเยอะ เพราะคุณพ่อคุณแม่ให้อิสระ ให้ออกไปเล่นผจญภัยนอกบ้านอยู่เสมอ เธอเป็นเด็กที่ไม่ค่อยได้ดูโทรทัศน์และไม่มีของเล่นที่บ้าน ทำให้ธรรมชาติที่พบรอบๆ ตัวกลายเป็นของสนุกสำหรับเธอ

“มีหิน ดิน ทราย เป็นของเล่นค่ะ ตอนนั้นจำได้ว่าเคยขุดหลุมลงไปให้ได้ลึกที่สุด เพราะคิดว่าจะเจอตาน้ำ แต่ไม่เจอเลยเอาดินเหนียวที่ก้นหลุมมาเล่นแทน พยายามทำเลียนแบบหนังสือที่เอาดินมาปั้นแล้วเผาเป็นเซรามิก จำได้ว่าเผากลางบ้านเลย เพราะเพิ่งเรียนลูกเสือมาโดยมีคุณพ่อคอยดูอยู่ห่างๆ เสร็จแล้วก็เอามาทาสีทำเป็นขนมเค้กครบรอบวันแต่งงานให้คุณพ่อคุณแม่ ค่อนข้างอยู่กับธรรมชาติเยอะโตมาอีกหน่อยเลยทราบว่าวิทยาศาสตร์มันใกล้กับ ธรรมชาติมากและเป็นสิ่งที่เราควรเรียน จึงตัดสินใจมาเรียนทางด้านวัสดุศาสตร์ตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก” ดร.พิมพา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของ นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตอนเขาเป็นเด็กก็เล่นซนเหมือนกับเด็กทั่วไป มีเกเรบ้าง เรียนบ้าง เล่นบ้าง แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาเกิดจากความคิดหนึ่งที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ วิทยาศาสตร์ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลกับเขาคือ วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งเหตุผล ใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ เอ็มเทค สวทช.
นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น