xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีนเดินหน้าวิจัยยาจากความหลากหลายทางชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ไบ๋ ชุนลี่ ประธาน CAS (ซ้าย) ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. (ขวา)
ไทยจีนยกระดับความร่วมมือวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เดินหน้าวิจัยยาจากสมุนไพรและทรัพยากรธรรมชาติที่มีร่วมกัน พร้อมศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความมั่นคงอาหาร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 58 โดยมี ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานในพิธี

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวว่าการร่วมมือดังกล่าวเป็นผลจากการเดินทางไปเยือนสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนของผู้บริหาร สกว.เมื่อช่วงเดือน ต.ค.57 ที่ผ่านมา และได้ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนงานวิจัยร่วมกัน เนื่องจากประเทศไทยและประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลานาน มีลักษณะทางธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน

"สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนเป็นสถาบันที่ดำเนินงานวิจัยอย่างกว้างขวาง และสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในประเทศจีน ประกอบกับ สกว. เองก็เป็นหน่วยงานในนามของประเทศไทยที่มีหน้าที่สนับสนุน ดูแลและให้งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัย การเข้ามาร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งสองจะช่วยเสริมให้งานวิจัยของทั้ง 2 ประเทศก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นำไปสู่การค้นพบยารักษาโรคใหม่ๆ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศทั้งสองเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีระดับโลก" ศ.นพ.ไกรสิทธิ์กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีนักวิจัยจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และนักวิจัยไทยที่ได้รับทุนจาก สกว.ทำงานวิจัยด้านสมุนไพรและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศร่วมกันมาแล้วในระยะหนึ่ง ในโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ด้านการวิจัยผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

ผู้อำนวยการ สกว.ระบุว่า การจัดทำบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปี แบ่งเบื้องต้นได้เป็น 3 กลุ่มคือ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและการค้นพบทางยา เพราะทั้งไทยและจีนมีสมุนไพรเฉพาะถิ่นอยู่ค่อนข้างมาก และด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากทั้งประเทศไทยและประเทศจีนตั้งอยู่ในเขตภูมิประเทศใกล้กับบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตร ทำให้สภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์และจุลินทรีย์ ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูงและถือว่าได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะถ้าหากมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งและนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ในวงกว้าง

"เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งไทยและจีนเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่มากและมีความหลากหลายค่อนข้างสูง จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก หากเรามีแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะของเหล่านี้ อย่างสมุนไพร พืช หรือแม้กระทั่งเชื้อโรคต่างๆ ที่มีอยู่ล้วนแล้วแต่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้นโดยเฉพาะทางการแพทย์ ซึ่งการร่วมมือกับประเทศจีนในครั้งนี้ผมเชื่อว่า จะเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยของไทยทำได้เร็วและประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น เพราะสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนเองก็เป็นสถาบันที่ค่อนข้างพร้อมและมีเครื่องมือที่ทันสมัย มีความก้าวหน้าล้ำไปกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก เราเดินคนเดียวก็อาจจะเดินได้แต่คงช้า คงจะดีกว่าถ้าเราสามารถเดินไปพร้อมๆ กับเขาได้" ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของ ศ.ดร.ไป๋ ชุนหลี่ (Bai Chunli) ประธานผู้อำนวยการสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งจีนและไทยในระดับเล็กๆ มาก่อนแต่ก็ประสบผลสำเร็จได้ ทำให้เขามีความเชื่อมั่นว่าหากได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศไทยที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีผลงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสูง จะทำให้เกิดความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ได้อย่างแน่นอน

"ในเนื้อหาการลงนามความร่วมมือเบื้องต้น เราจะผลักดันให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยผ่านการเยี่ยมชมหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อที่น่าสนใจใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อแบ่งปันผลการวิจัยและประสบการณ์โดยจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพระหว่างไทยและจีน และที่สำคัญที่สุด คือเราจะพยายามให้เกิดการพัฒนาและดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน" ศ.ดร.ไป๋ ชุนหลี่กล่าว
บรรยากาศการลงนามระหว่างผู้นำของทั้ง 2 สถาบัน
ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงานถ่ายรูปร่วมกัน






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น