ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างไร? แล้วเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากน้อยแค่ไหน? ถอดมุมมองนักวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทย "ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา" และความหวังในความร่วมมือวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับจีน
"ถ้าจะหาจุดขายของประเทศไทย ผมว่าต้องขายที่ความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น เพราะถ้าจะพูดถึงเรื่องเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมไฮเทคล้ำสมัยเราสู้ใครเขาไม่ได้จริงๆ" ประโยคหนึ่งจากปาก ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญในความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ในระหว่างการประชุมการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-จีนในสาขาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จัดขึ้นก่อนถึงพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ประเทศไทย
ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การกล่าวถึงชนิดของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีความหลากหลายทางชีวภาพที่แตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยความหลากหลายทางชีวภาพนี่เองที่จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ เพราะพวกมันคือ แหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรคที่ถูกมนุษย์นำไปใช้ประโยชน์
"ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก" ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ ระบุว่าคือจุดเด่นของประเทศที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ และควรกระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศได้แล้ว การศึกษาวิจัยเชิงลึกถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์แต่ละชนิดยังเป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะทำให้เข้าใจปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น นำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเป็นอาหาร หรือยารักษาชนิดใหม่ๆ
"ประเทศไทยถือเป็นหัวใจของอาเซียน หรือหัวใจของโลกได้เลยนะ ลองมองแผนที่ดูสิ ประเทศเราแทบจะอยู่กึ่งกลางของโลก ล้อมรอบไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเช่นเดียวกัน ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรเกิดเป็นความหลากหลายที่มากขึ้นๆ มีป่าเบญจพรรณ มีป่าชายเลน มีทรัพยากรทั้งพืช สัตว์ หรือแม้กระทั่งเชื้อโรคต่างๆ เต็มไปหมด มีทุกอย่างพร้อมซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีมากถ้าเรารู้จักศึกษา เพราะคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการรู้ว่าในบ้านของตัวเองมีอะไรอยู่บ้าง แล้วสามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรายังขาดและต้องทำวิจัยให้มากพอ ทั้งในระดับชนิดพันธุ์ ระดับพันธุกรรมและระดับนิเวศวิทยา" ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุ
ที่ผ่านประเทศไทยทำงานวิจัยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ ระบุด้วยว่างานวิจัยดังกล่าวได้รับความเชื่อถือสูงในระดับสากล และถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แข่งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมาโดยตลอด แต่ยังขาดกำลังคนและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยให้งานวิจัยประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นการลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทยผ่านทาง สกว.และสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน จึงถือว่าเป็นความหวังของนักวิจัยรุ่นเก่าอย่างเขาที่เห็นทั้งความสำเร็จและควาล้มเหลวของงานวิจัยมาเกือบครึ่งชีวิต
"ถ้ายังจำกรณีที่นักวิจัยชาวต่างชาติเอาสมุนไพรของเราไปจดสิทธิบัตรเป็นของเขาได้ นี่มันถือเป็นความเจ็บปวดอย่างมากเลยนะสำหรับนักวิจัยคนไทยแบบผม เพราะเราทำอะไรเขาไม่ได้นอกจากเร่งพัฒนางานวิจัยของตัวเองให้ดีขึ้น มากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเดินช้าเกินไป แถมยังไม่มีคน ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีองค์ความรู้ ซึ่งผมเชื่อว่าปัญหาตรงนี้จะน้อยลงหากเราได้ทำงานร่วมกับจีนที่มีความพร้อมสูงทางด้านงานวิจัย ทั้งทางด้านกำลังคน เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงทุนวิจัยที่จะทำให้สิ่งต้างๆ เดินหน้าไปได้เร็วขึ้น เพราะถ้าเราทำความร่วมมือกันนักวิจัยของเราก็จะได้แลกเปลี่ยนกับเขา มีการประชุมวิชาการร่วมกัน มีการทำงานวิจัยร่วมกันซึ่งสิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำวิจัยสมัยใหม่" ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ท้ายสุด ศ.ดร.สมศักดิ์ ยังให้ข้อสังเกตด้วยว่าอีก 10 ปีข้างหน้า การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของนักวิจัยทั่วโลกจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเป็นทำเลทองที่เหล่านักวิจัยต่างชาติจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เนื่องจากประชากรโลกจะมีจำนวนมากขึ้นจนอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงมีการอุบัติของโรคใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยตัวยาที่มีพื้นฐานจากสมุนไพร การศึกษาวิจัยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ยังต้องการนักวิจัยไทยหน้าใหม่ๆ เข้ามาทำงานอีกเป็นจำนวนมาก และเป็นหน้าที่ของคนในชาติที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติที่มีอยู่เพราะนี่คือสมบัติที่ดีที่สุดแล้วของพวกเรา
ทั้งนี้การประชุมการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-จีนในสาขาความหลากหลายทางชีวภาพ จัดขึ้นในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Sciences: CAS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 58
*******************************