xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าผู้ใหญ่ไม่ขัดเด็ก...นักประดิษฐ์รุ่นใหม่มีทางรุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รศ.สุธี อักษรกิตติ์ ประธานกรรมการสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการวิจัย
อยากเป็นนักประดิษฐ์ที่ดีต้องทำอย่างไร ? ต้องทำงานแบบไหนจึงจะประสบความสำเร็จ? ผู้เชี่ยวชาญแนะต้องคิดก่อนค้น ยกปัญหาใกล้ตัวคือสุดยอดโจทย์วิจัย ดันนักศึกษาอาชีวะเป็นนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ของชาติ

"จริงๆ แล้วเด็กอาชีวะเก่งมากนะ มีทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แถมฝีมือช่างยังถือเป็นที่หนึ่ง ถ้าเราส่งเสริมองค์ความรู้ให้เขาอีกนิด ใส่แรงจูงใจอีกสักนิด เด็กอาชีวะนี่แหละ คือ นักประดิษฐ์ตัวจริงที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศเรา" รศ.สุธี อักษรกิตติ์ ประธานกรรมการสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมการวิจัย กล่าวในการบรรยายเรื่อง "นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ สู่ความเป็นมืออาชีพ" เมื่อต้นเดือน ม.ค.58 แก่คณะกรรมการอาชีวศึกษาภาคใต้ และนักศึกษาอาชีวะจากสถาบันต่างๆ ในกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาภาคใต้

รศ.สุธี กล่าวว่า การจะเป็นนักประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มที่ตัวเอง โดยนักประดิษฐ์ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อด้วยกัน คือ การมองภาพรวมให้ออก, คิดนอกกรอบให้เป็น, มุ่งมั่นทำงานไม่หวั่นไหว และมีใจรู้จักการพัฒนา เพราะปัญหาส่วนมากที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากตัวของนักประดิษฐ์เองเท่านั้น แต่ยังเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างของพวกเขา

"นักประดิษฐ์ที่ดีต้องรู้จักคิดก่อนค้น" เพราะว่าด้วยเรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์แล้ว คือการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งประสบการณ์ของแต่ละบุคคลจะทำให้ได้แนวความคิดใหม่ๆ ที่แปลกออกไป ในขณะที่คนสมัยใหม่ส่วนมากจะเคยชินกับการค้นทางอินเทอร์เน็ต เป็นผลให้แนวความคิดดูละม้ายคล้ายคลึงกันจนไม่มีความน่าสนใจ รศ.สุธี ขยายความ

"คนสมัยนี้เอะอะอะไรก็ค้นกูเกิล คิดอะไรไม่ออกก็ถามกูเกิล กลายเป็นความเคยชินที่น่าวิตกอย่างหนึ่ง ที่อาจทำให้นักประดิษฐ์สมัยใหม่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง มันต้องคิดก่อน ใช้ความคิดของตัวเองก่อนแล้วเราจะได้อะไรใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตัวเองหรือชุมชนจริงๆ" รศ.สุธี กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

รศ.สุธี เผยว่า การกำหนดหัวข้อสิ่งประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องล้ำลึกยากมากเสมอไป จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาพบว่าสิ่งประดิษฐ์ส่วนมากที่ประสบความสำเร็จไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายล้วนมาจากโจทย์วิจัยใกล้ตัวทั้งสิ้น เพียงแค่ตัวนักประดิษฐ์ต้องวิเคราะห์ให้เป็น มองปัญหาให้ออกจึงค่อยเริ่มค้นคว้าว่าจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร จนเกิดเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ได้ในที่สุด

"ความคิดดีอย่างเดียวอาจไม่พอใจต้องแข็งแรงด้วย เพราะสิ่งที่ขวางทางนักประดิษฐ์เก่งๆ ในเมืองไทย เกิดจากความเกรงใจและความโน้มเอนตามผู้ใหญ่จนไม่กล้าคิดนอกกรอบ" ซึ่ง รศ.สุธี ระบุว่ากำลังเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ทำให้วงการงานประดิษฐ์ในเมืองไทยย่ำอยู่กับที่ เนื่องจากผู้ใหญ่ อาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญส่วนมากยังคงยึดติดกับแนวความคิดเดิมๆ ไม่ยอมรับความคิดใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้พวกเขาเกิดความไม่มั่นใจและเลิกล้มความตั้งใจไปในที่สุด

"เด็กสมัยนี้เขาคิดอะไรได้ล้ำๆ เยอะแยะเลยนะ แต่บางทีได้แค่คิดเพราะโดนขัดเสียก่อน แล้วพอผู้ใหญ่ขัดเด็กจะทำอะไรได้ ก็หงอสิ จิตใจก็ไม่กล้าทำอะไรแล้ว เพราะแบบนี้ไงถึงทำให้เราเสียเพชรงามๆ ไปเยอะ ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจรับฟังดูก่อนว่างานที่เด็กคิดมาเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเปลี่ยนจากการขัดเป็นคำแนะนำ เป็นความเป็นกันเองเหมือนพี่สอนน้อง มากกว่าอาจารย์กับศิษย์เพราะเรื่องพวกนี้มันต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แล้วพอผลงานสำเร็จออกมาก็ต้องมีแผนธุรกิจที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เพราะนักประดิษฐ์มืออาชีพเขาจะไม่ละมือจากงานถ้าทุกอย่สงยังไม่อยู่ในระดับที่ดีที่สุด" รศ.สุธี ชี้แนวทางสู่การเป็นนักประดิษฐ์มืออาชีพ
ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการ สอศ.
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า การส่งเสริมนักศึกษาอาชีวะสู่การเป็นนักประดิษฐ์ถือเป็นอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งที่ทาง วช. ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาเป็นเวลากว่า 4 ปี โดย วช.จะเข้ามาให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และดูแลผลงานสิ่งประดิษฐ์ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากนักศึกษาอาชีวะในภูมิภาคต่างๆ โดยในโอกาสนี้ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ภาคใต้ขึ้น เพื่อกระตุ้นนักศึกษาให้เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเป็นนักประดิษฐ์ของพวกเขาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"เด็กอาชีวะไทยมีความสามารถโดดเด่นเฉพาะตัวอยู่แล้วแต่อาจอยู่ในมุมที่คนไม่ได้เห็นมากนัก โดยเฉพาะนักศึกษาอาชีวะทางภาคใต้เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นทางความคิดค่อนข้างมาก เท่าที่ผมเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่พวกเขาทำขึ้น ล้วนตอบโจทย์และนำไปต่อยอดได้ทั้งสิ้น เพราะพวกเขากำหนดแนวทางสิ่งประดิษฐ์จากปัญหาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันหรือในท้องถิ่นซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ดี วช. จึงมีหน้าที่จุดประกายความเป็นนักประดิษฐ์ และสนับสนุนให้งานของเขาสมบูรณ์ครบวงจรมากขึ้น ให้สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาเดินไปได้อย่างไม่สะดุดจนถึงปลายทาง" ศ.นพ.สุทธิพร เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ศ.นพ.สุทธิพร จิตรมิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชา
ท้ายสุด ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สอศ.กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาให้เด็กอาชีวะเป็นนักประดิษฐ์ที่มีความสามารถ พร้อมเข้าสู่สังคมการทำงาน แทนที่ภาพลักษณ์ความก้าวร้าวรุนแรงที่ทำให้สังคมมองเด็กอาชีวะในแง่ร้าย อีกทั้งยังช่วยเหลือไปยังศิษย์เก่าอาชีวะที่จบการศึกษาแล้ว ไปเป็นผู้ประกอบการเพื่อช่วยประคองให้ธุรกิจของพวกเขาเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง

"โครงการสิ่งประดิษฐ์ เป็นวิชาหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของสถาบันอาชีวศึกษา ทำให้ปีหนึ่งๆ เกิดผลงานสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมากมาย เฉพาะ 78 สถาบันอาชีวะในภาคใต้ก็มีสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปต่อยอดได้ถึง 200 ผลงาน จากทั้งหมด 3,000-4,000 ผลงานต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก และเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับวงการสิ่งประดิษฐ์ของไทย โดยนอกจากเราจะพยายามปลูกฝังให้เด็กอาชีวะมีองค์ความรู้ มีพื้นฐานทางการประดิษฐ์แล้ว การสนับสนุนเงินทุนก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ สอศ.ดูแล" ดร.มงคลชัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้การบรรยายเรื่อง "นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ สู่ความเป็นมืออาชีพ" จัดขึ้นในกิจกรรมเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ภาคใต้ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7-8 ม.ค. 58 โดยมีการบรรยายให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และมีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสถาบันอาชีวศึกษาภาคใต้ ที่ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นในระดับต่างๆ อีกด้วย
เครื่องแกะเนื้อหอยขม
โซลาร์เซลล์ชาร์ตโทรศัพท์สาธารณะ
เครื่องผ่าจาวตาล
ไม้เก็บลูกปาล์ม และมือจับทะลายปาล์ม






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น