xs
xsm
sm
md
lg

ให้ "โรงสีข้าว" ติดปีก "บ้านสามขา" หมู่บ้านวิทย์ในลำปาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา (ซ้าย) และ นายดุสิต ตั้งพิสิฐโยธิน
"บ้านสามขา" ชุมชนเล็กๆ ใน จ.ลำปางมีอาชีพหลักเป็นการทำนาเกษตรอินทรีย์ และขายข้าวได้ราคาสูงถึงตันละ 25,000 บาท แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับชุมชนคือโรงสีข้าวที่อยู่ออกไปกว่า 50 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก




ปัญหาดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งได้มอบเครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับชุมชน แก่ชุมชนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งนิยมปลูกข้าวอินทรีย์ 2 พันธุ์หลักๆ คือ ข้าวหอมล้านนาซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่างข้าวสินเหล็กและข้ามหอมนิล และข้าวมะลิแดง

นายดุสิต ตั้งพิสิฐโยธิน นักวิจัยเอ็มเทคผู้พัฒนาเครื่องสีข้าวชุมชนขนาดเล็ก อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เครื่องสีข้าวดังกล่าวมีกำลังผลิต 150-200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งเหมาะแก่ชุมชนขนาดเล็ก

"เครื่องสีข้าวขนาดเล็กนี้สามารถสีได้ทั้งข้าวกล้องและข้าวขาว และในขั้นตอนทำความสะอาดเมล็ดข้าวยังใช้เป็นกระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนปัดเศษดิน เศษฝุ่น ข้าวเมล็ดลีบและสิ่งปนเปื้อนที่ไม่ต่างจากเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ และยังปรับความถี่เพื่อสีข้าวต่างชนิดกันได้ เนื่องจากชาวบ้านปลูกข้าวหลากหลายชนิด" ดุสิตระบุ

อีกข้อดีที่ทำให้เครื่องสีข้าวผลงานนักวิจัยเอ็มเทคโดดเด่นกว่าเครื่องสีข้าวนำเข้าจากประเทศคือ ต้นกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบเฟสเดียวจึงใช้ได้กับไฟฟ้าตามบ้านเรือน และมีประสิทธิภาพการสีค่อนข้างสูง มีเมล็ดข้าวหักน้อย โดยสีข้าวกล้องได้ 67-71% และสีข้าวขาวได้ 55-60%

ดุสิตกล่าวว่า มีหลายชุมชนที่ทางเอ็มเทคสนับสนุนเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก คือ ชุมชนใน อ.ผักไห่ จ.อยุธยา ชุมชนใน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และล่าสุดคือชุมชนบ้านสามขา นอกจากนั้นยังได้มอบเครื่องสีข้าวกำลังผลิต 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง แก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 46 จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนสำหรับนักเรียน

"ที่ชัยนาทเราทำขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนกินนอน เนื่องจากโรงเรียนต้องหุงข้าวปริมาณมากเลี้ยงนักเรียน ส่วนชุมชนที่เหลือเป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก แต่มีความแตกต่างกันไปวิถีชุมชน เครื่องสีข้าวที่ผักไห่มี 2 หัวขัดเพราะชาวภาคกลางนิยมกินข้าวขาว แต่ที่ลำปางเราใช้หัวขัดเดียวเพราะชาวบ้านนิยมกินข้าวที่ขัดเล็กน้อย" ดุสิตอธิบาย

ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวถึงเหตุผลในการสนับสนุนชุมชนบ้านสามขาว่า เป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์หลายๆ ด้าน รวมถึงการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่หมู่บ้านอื่นๆ

"เราเข้ามาช่วยตอนปลายน้ำแล้วคือการสีข้าว เพราะชุมชนยังขาดโรงสี และเอ็มเทคก็ทำโรงสีมานาน แต่เราไม่ทำโรงสีมาให้เฉยๆ คนในชุมชนต้องเรียนรู้การใช้งาน ดูแลและซ่อมแซมเองได้ เพราะนักวิจัยไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ได้บ่อยๆ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเอาของมากองแล้วกลายเป็นเศษเหล็กสร้างประโยชน์ไม่ได้ โรงสีขนาดนี้เหมาะกับชุมชนขนาดเล็กที่ส่งข้าวไปโรงสีขนาดใหญ่ไม่คุ้ม และโรงสีขนาดใหญ่ก็ไม่คุ้มที่จะสีข้าวในปริมาณน้อยๆ" รศ.ดร.วีระศักดิ์

ด้านนายบุญคำ วงศ์ษากัน ผู้ดูแลโรงสีเผยว่า ปกติแค่ปลูกข้าวและทำนา และไม่เคยใช้เครื่องสีข้าวมาก่อน เพิ่งหัดสีข้าวเป็นครั้งแรกโดยได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ซึ่งผู้นำข้าวมาสีมีค่าใช้จ่ายสำหรับสีข้าวกล้องกระสอบละ 40 บาท ส่วนข้าวขาวกระสอบละ 10 บาท สำหรับเครื่องสีข้าวจากเอ็มเทคนี้ถือว่าดูแลง่ายและใช้งานไม่ยาก

ผอ.เอ็มเทคกล่าวอีกว่า ต้องเก็บข้อมูลการใช้โรงสีชุมชนต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย และชุมชนได้เรียนรู้ว่า จะบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนอะไหล่ และควรสำรองอะไหล่ไว้มากแค่ไหนด้วย ซึ่งการใช้งานของชุมชนก็เป็นประโยชน์ต่องานวิจัย
ข้าวหอมล้านนาที่ชุมชนบ้านสามขานิยมปลูก
นายบุญคำ วงศ์ษากัน และโรงสีชุมชนขนาดเล็ก
ศ.ดร.วีระศักดิ์ และนายบุญคำ ระหว่างชมตัวอย่างข้าวที่ได้จากโรงสี






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น