สำหรับ “ลาว” วิทยาศาสตร์คือเรื่องใหม่ เพราะเพื่อนบ้านอีกฟากแม่น้ำโขงเพิ่งก่อตั้งกระทรวงขึ้นมาดูแลภารกิจทางด้านนี้โดยตรงเพียง 2 ปี และด้วยภารกิจสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเกิดเป็นความร่วมมือวิทยาศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ และไทยยังพร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนาวิทยาศาสตร์หลายสาขา แต่ลาวจะมุ่งไปทางไหน?
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและพบปะหารือกับผู้นำของลาว และได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทย-ลาว ณ นครหลวงเวียงจันทน์ และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตรและเทคโลยี ได้เชิญ ศ.ดร.บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป.ลาว มาศึกษาดูงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของไทยในหลายๆ หน่วยงาน
ศ.ดร.บ่อเวียงคำและคณะใช้เวลาร่วม 5 วัน ระหว่างวันที่ 14-18 ม.ค.58 เพื่อเยือนหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของไทย ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Science Park) จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), หอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา, สถาบันวิจัยซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ.ปทุมธานี และหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
ในโอกาสดังกล่าวทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมติดตามภารกิจของเจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ลาวและคณะระหว่างการเยือนหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของไทยดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งได้สอบถามถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของลาว รวมถึงความสนใจต่อเทคโนโลยีต่างๆ ของไทย
มุ่งใช้วิทย์พัฒนาเกษตร
แม้นโยบายของ สปป.ลาวจะมุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่กลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมแทนเกษตรกรรม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี '58 แต่ในการเยี่ยมชมหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของไทยทางตัวแทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ของลาวได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงการมุ่งใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศมากกว่า
ระหว่างการเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ของลาวได้เยี่ยมชมผลงานของหน่วยงานแห่งชาติ อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดย ศ.ดร.บ่อเวียงคำให้ความเห็นว่าวิทยาศาสตร์ไทยก้าวหน้าไปมาก และเชื่อว่า ลาวจะได้รับการสนับสนุนที่จากไทยโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันลาวกำลังมีปัญหาเรื่องการนำเข้าสารเคมีปราบศัตรูพืชปริมาณมากและกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ทางศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพของลาวจึงสนใจการใช้เชื้อราในการปราบแมลงศัตรูพืช ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งในการลดปริมาณสารเคมี และทางด้านเครื่องจักรกลไกต่างๆ เพราะเรากำลังจะนำประเทศเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมทางการเกษตร" ศ.ดร.บ่อเวียงคำเผย
เน้นเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศ
รวมถึงระหว่างการเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนซึ่ง ศ.ดร.บ่อเวียงคำให้ความเห็นว่าเขาสนใจนำแสงซินโครตรอนไปใช้เพิ่มมูลค่าทางการเกษตรมากที่สุด และมีความคาดหวังที่ไทย-ลาวจะมีงานวิจัยร่วมกันทางด้านสมุนไพรและการพัฒนาข้าว โดยการศึกษาโครงสร้างโมเลกุลและกลไกการทำงานด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร แต่ไม่คาดหวังที่จะสร้างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเหมือนไทย
สอดรับกับความเห็นของ นายสัญญา ประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป.ลาว ซึ่งเผยว่า ลาวพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ คือการมองหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับสร้างมูลค่าทางการเกษตร โดยอยากพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ดีขึ้น แต่ไม่คาดหวังที่จะตั้งหน่วยวิจัยหรือสถาบันวิจัยใหญ่ เนื่องจากลาวไม่ได้มีเงินเหมือนไทย
มุ่งใช้ดาราศาสตร์กระตุ้นความสนใจวิทย์
ทว่าต้นแบบที่ลาวมองว่าสามารถกลับสร้างและพัฒนาได้คือการสร้าง “ท้องฟ้าจำลอง” หลังจากได้เยี่ยมชมหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยมุ่งหวังกระตุ้นให้ประชาชนของลาวหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากกว่าโหราศาสตร์
ศ.ดร.บ่อเวียงคำ เผยว่า ส่วนตัวชอบดูดาวเพราะเชื่อว่าหากได้มองดาวดวงเดียวกับคนที่เราคิดถึงจะทำให้ ใจสามารถสื่อสารกันได้ และดาวในแต่ละค่ำคืนยังไม่เหมือนกันทำให้ไม่เคยรู้สึกเบื่อที่จะมอง นอกจากนี้ดวงจันทร์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งบนท้องฟ้าที่ชอบสังเกตเช่นกัน โดยการดูงานทางดาราศาสตร์ทั้งที่หอดูดาวภูมิภาคและหอดูดาวแห่งชาติของไทย ทำให้เห็นว่า ดาราศาสตร์จะช่วยสร้างความตระหนักวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน แม้จะไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจหรือรายได้แก่ประเทศ
ส่วนการสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นอีกอย่างที่ลาวสนใจ ซึ่ง ศ.ศ.ดร.บ่อเวียงคำ คิดว่าลาวควรจะมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไว้สำหรับเยาวชนบ้าง และได้มองนิทรรศการไว้หลายๆ แบบที่ลาวน่าจะสร้างขึ้นได้ โดยคิดว่าหากจัดทำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขึ้นจริงๆ ก็มีของสะสมด้านธรรมชาติและความหลกหลายทางชีวภาพที่เอามาจัดแสดงได้ แต่ยังไม่มีเงินพอสำหรับเทคโนโลยีชั้นเลิศ
“เรามีแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์แต่เรายังไม่สามารถทำอะไรที่ใหญ่เกินตัวได้ ต้องค่อยๆ ทำไปก่อนเริ่มที่ปัญหาใกล้ตัว และสิ่งที่เรามีดีอยู่แล้ว คือ กสิกรรม เพราะเรามีงบประมาณที่จำกัด การที่มาดูงานที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยก้าวล้ำกว่าเราไปมาก และถึงเวลาแล้วที่วิทยาศาสตร์ของ สปป.ลาวจะต้องพัฒนาบ้าง อาจจะต้องใช้เวลา 20-30 ปีหรือเสียเงินแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะในอนาคตทุกประเทศจะแข่งขันกันด้วยวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับ สปป.ลาวเอง เพิ่งจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาได้แค่ประมาณ 2 ปี จะให้ก้าวกระโดดทันทีก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์เรามีน้อย องค์ความรู้ก็ยังน้อย จึงต้องเข้ามาหาความร่วมมือจากประเทศไทยที่มีโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์แข็งแกร่ง” นายสัญญา ย้ำถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของลาว