xs
xsm
sm
md
lg

รู้ดีประเทศไม่มีเงินพอ "ลาว" ไม่หวังสร้างเครื่องซินโครตรอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะผู้แทนลาวเยี่ยมชมสถาบันวิจัยซินโครตรอน
"ไม่หวังมีซินโครตรอน กระทรวงวิทย์ฯลาว ชี้งานวิจัยใกล้ตัวสำคัญกว่าเมกะโปรเจ็กต์รู้ดีประเทศไม่มีเงินมากพอ" หวังเรียนรู้วิทย์จากไทยนำไปใช้ยกระดับผลผลิตทางการเกษตร พร้อมเดินหน้าทำวิจัยร่วมใช้ซินโครตรอนพัฒนาคุณภาพข้าว ยาสมุนไพรและเครื่องมือกล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พร้อมคณะ เดินทางเยี่ยมชมสถาบันวิจัยซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาดูงานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย พร้อมหารือความร่วมมือด้านวิจัยพัฒนา ตามการลงนามความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-ลาว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.58

ศ.ดร.บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว กล่าวว่า เขาค่อนข้างทึ่งกับสถาบันซินโครตรอน และเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ได้ลงมาเยี่ยมชมถึงห้องที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนตั้งอยู่ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตประจำวันที่จะได้เข้าชม รู้สึกยินดีแทนคนไทยที่มีสถานที่ทันสมัยและก้าวล้ำทางเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะซินโครตรอนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

"ตัวผมเองสนใจการนำซินโครตรอนมาใช้กับเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรมากที่สุด เนื่องจาก สปป.ลาวเป็นประเทศแห่งกสิกรรม ยินดีมากที่ได้มาเยี่ยมชมสถาบันซินโครตรอนได้มาเห็นโรงงาน เห็นอุปกรณ์ เห็นบุคลากรที่ทำงานอยู่ รู้สึกทึ่งกับความยิ่งใหญ่และได้รู้ว่าโครงสร้างวิทยาศาสตร์ไทยแข็งแรงมาก สปป.ลาวหวังว่าในอนาคตจะได้เห็นการทำงานร่วมกันของนักวิจัยลาวที่นี่ ซึ่งผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการวิจัยสมุนไพรไทย และด้านการพัฒนาข้าวโดยการศึกษาโครงสร้างของโมเลกุล กลไกการทำงานต่างๆ ผ่านการใช้ซินโครตรอน ที่จะช่วยให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตร" รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ของลาวเผย

ด้าน ศ.นท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้เปิดเผยว่า การเดินทางมาดูงานของคณะผู้แทนจากลาวในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการลงนามความร่วมมือกันทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในขอบงานของสถาบันซินโครตรอนจะให้ความร่วมมือกับ สปป.ลาวด้านการทำวิจัยร่วมทางด้านสมุนไพร ด้านอัญมณี และด้านวัตถุโบราณ ซึ่งหลังจากที่รัฐมนตรีลาวได้มาดูงาน คาดว่าเรื่องข้าวและเรื่องเครื่องเคลือบกระจกจะเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในหัวข้อการทำวิจัยร่วมกัน เพราะค่อนข้างได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากคณะศึกษาดูงาน

"ซินโครตรอนทำประโยชน์ได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือใช้ในการศึกษาถึงโครงสร้างภายในของข้าวทำให้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากคณะ ซึ่งในอนาคตหากมีการส่งนักวิจัยมาแลกเปลี่ยน ก็ยินดี เพราะลาวซึ่งเป็นประเทศพี่น้องกับไทยมานาน อีกทั้งสถาบันซินโครตรอนของประเทศไทย ยังมีนโยบายที่รองรับและส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากนานาชาติอยู่แล้ว" ศ.นท.ดร.สราวุฒิเผย

"จากที่ผมสังเกตลาวจะสนใจการใช้ประโยชน์ทางด้านกสิกรรมกับการทำการสร้างเครื่องกลต่างๆ มากกว่าการจะจัดตั้งสถาบันซินโครตรอนเอง อาจมาจากปัจจัยหลายอย่างที่ลาวยังไม่มีความพร้อม แต่สำหรับงานวิจัยเราก็จะให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่เขาอย่างเต็มความสามารถ ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไร จะมีอะไรมากกว่าการส่งนักวิจัยเพื่อมาทำวิจัยร่วมกันหรือไม่ ต้องรอหารือต่อไปในการประชุมครั้งหน้า" ศ.นท.ดร.สราวุฒิ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของ นายสัญญา ประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สปป.ลาว เผยว่า ความยิ่งใหญ่และประโยชน์ที่ได้จากเครื่องกำเนิดซินโครตรอนมีอยู่มาก และถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเขาจะผลักดันให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์กับทางด้านกสิกรรมของประเทศผ่านการทำวิจัยร่วมกับไทย เพราะคงเป็นเรื่องยากที่จะมีสถาบันซินโครตรอนในประเทศของเขา

นายสัญญา เผยว่า วิทยาศาสตร์ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับลาว การจะพัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ใช้เงินทุนสูงจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสิ่งที่ลาวมองในขณะนี้คือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่เพราะประเทศของเขามีความเข้มแข็งทางกสิกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยเพื่อนบ้านอย่างไทยที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในระดับสูงมาช่วยขับเคลื่อนประเทศที่ยังถือว่าเพิ่งจะเริ่มต้นสำหรับวิทยาศาสตร์

"เราพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตัวเรา คือการมองหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้สำหรับสร้างมูลค่าทางการเกษตร เราอยากมีวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น แต่เราไม่ได้หวังว่าจะมีหน่วยวิจัยใหญ่ๆ หรือสถาบันดีๆ แบบซินโครตรอนเพราะเราไม่มีเงินแบบไทย อีกทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในลาวก็เพิ่งเริ่มมีได้แค่ประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น ยังไม่มีผลสัมฤทธิ์อะไรในช่วงนี้แต่เราก็มีแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ของตัวเองที่จะต้องพยายามเรียนรู้เทคโนโลยี และศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ลาวให้มีมากขึ้น อาจจะใช้เวลาถึง 20 ปี หรือ 30 ปีก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ" ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ แห่งสปป.ลาว กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
เจ้าหน้าที่แสดงผลงานตัวอย่างจากการใช้ประโยชน์ของซินโครตรอนแก่ รมต. และคณะเข้าดูห้องปฏิบัติการ
ผู้บริหารสถาบันวิจัยซินโครตรอน พา รมต. และคณะเข้าดูห้องปฏิบัติการ
ผู้บริหารสถาบันวิจัยซินโครตรอน พา รมต. และคณะเข้าดูห้องปฏิบัติการ
ผู้บริหารสถาบันวิจัยซินโครตรอน พา รมต. และคณะเข้าดูห้องปฏิบัติการ
รมต.ให้ความสนใจกับแอปพลิเคชันตัวการ์ตูน 3 มิติของซินโครตรอน
ผอ.ซินโครตรอนมอบของที่ระลึกให้แก่ รมต.
ภายในห้องปฏิบัติการผลิตแสงซินโครตรอน
นายสัญญา ประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สปป.ลาว
ศ.นท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ผอ.ซินโครตรอน และคณะรมต. วิทยาศาสตร์แห่ง สปป.ลาว ถ่ายภาพร่วมกัน
การประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนลาว และผู้บริหารสถาบันซินโครตรอน
ศ.ดร.บ่อคำเวียง ถ่ายภาพด้วยแอพลิเคชัน 3 มิติของสถาบันซินโครตรอน






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น