จุฬาฯ เปิดตัวสารความงามจากเมือกหอยทากไทย ชี้คุณสมบัติดีกว่าหอยต่างชาติ และมีสารต้านเชื้อราเหมาะกับสภาพแวดล้อมและผิวหน้าคนไทย ผลพวงงานวิจัยกว่า 30 ปี "ดร.สมศักดิ์ ปัญหา"
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับวภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวความสำเร็จในการผลิตเมือกจากหอยทากไทยเพื่อใช้อุตสาหกรรมความงาม เมื่อวันที่ 11 ก.พ.58 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์ เผยว่าได้วิจัยเรื่องหอยมากว่า 30 ปี และรู้สึกยอมไม่ได้ที่หอยจากต่างประเทศมาตีตลาดความงามเมืองไทย
"หอยทากมีลักษณะที่โดดเด่นคือผลิตจากเท้าเพื่อใช้เดินไปตามพื้น และเมือกจากแมนเทิลเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ และลักษณะเด่นอีกอย่างคือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ แต่จากการขุดพบฟอสซิลก็ไม่เห็นการเปลี่นนแปลงมาตลอดหลายร้อยล้านปี และอารยธรรมโบราณตั้งแต่อาณาจักรโรมันหรืออียิปต์ได้ใช้หอยทากบริโภคและใช้เมือกเพื่อความงาม แม้แต่เกาหลี ญี่ปุ่น ชิลีได้เพาะเลี้ยงหอยทากแล้วนำสกัดเมือกมาสกัดใช้เพื่อความงาม" ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุ
ทั้งนี้ ดร.สมศักดิ์ได้เลือกหอยทาก 3 ชนิดมาผลิตเมือกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมความงาม คือ หอยทากสยาม หอยทากนวล และหอยทากอาฟริกัน โดยเน้นที่หอยทากนวลซึ่งเป็นอาหารของชาวอีสานและประเทศในแถบอาเซียน และหอยทากสยามซึ่งเป็นหอยทากไทย รวมถึงหอยทากอาฟริกันซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แพร่กระจายในไทยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงนำมาใช้ประโยชน์
ในการผลิตเมือกหอยทาก ดร.สมศักดิ์ระบุว่า จะให้ความอบอุ่นและใช้การสัมผัสที่นุ่มนวลบริเวณขอบเปลือกด้านในติดกับแมนเทิลเพื่อให้หอยทากขยับเมือกออกมา โดยใช้เวลา 2-3 นาทีต่อการสัมผัสแต่ละครั้งเพื่อให้หอยนวล 1 ตัวจะขยับเมือกได้ 10 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร และให้หอยทากขับเมือกเพียงวันละ 3 ครั้ง เพื่อไม่รบกวนหอยทากมากเกินไป อย่างไรก็ดีทางสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องการเมือกหอยทากเป็นตัน ซึ่งต้องใช้หอยทากประมาณ 10,000 ตัว
ในเมือกหอยทากมีโปรตีนคล้ายผิวหนังคนและมีองค์ประกอบต้านอนุมูลอิสระ อาทิ อัลลันโทอิน (Allantoin) ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ลดริ้วรอยและเร่งการผลิตเซลล์ผิวใหม่ กลีโคลิกแอซิด (Glycolic Acid) ขจัดเซลล์ที่ตายแล้ว คอลลาเจนให้ความชุ่มชื้น อีลาสตินให้ความยืดหยุ่นแก่ผิว ไฮยาลูรอนิกแอซิดลบริ้วรอย ให้ผิวชุ่มชื้น
จากการวิเคราะห์คุณสมบัติของเมือกหอยทากไทยพบว่ามีสารต้านเชื้อราในเมือกจากหอยนวล และพบว่าโปรตีนจากหอยทากดังกล่าวกระตุ้นการเรียงตัวของโปรตีนแอคตินที่ผิวหนัง ซึ่ง ศ.ดร.สมศักดิ์ระบุว่า เมือกจากหอยทากไทยมีความเหมาะสมกับคนไทยมากกว่าหอยทากเมืองหนาว เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และเผชิญเชื้อโรคแบบเดียวกับที่ผิวคนไทยสัมผัส
ทางด้าน ศ.ดร.อัญชลี ทัศนาขจร หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า ได้วิเคราะห์สารออกฤทธิ์และนำเมือกจากหอยทากไปทำให้บริสุทธิ์และพัฒนาสูตรเป็นส่วนผสมของเมือกจากหอยทากหลายชนิด ควบคุมคุณภาพ ความสดและอุดมด้วยสารออกฤทธิ์
ทางด้าน ภก.ดร.พิศาล จันทฤทธิรัศมี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่าอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยมีมูลค่าส่งออกถึง 140,000 ล้านบาท ขณะที่นำเข้า 20,000 ล้านบาท แต่ไทยเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำที่รับผลิตสินค้าในแบรนด์ของต่างประเทศ แต่การผลิตเมือกหอยทากของนักวิจัยจุฬาฯ จะช่วยสนับสนุนการสร้างแบรนด์ของคนไทยจากการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ
ส่วน นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรร. และเลขาธิการคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรม เผยว่าอุตสาหกรรมความงามเกาหลีในอดีตสู้ไทยไม่ได้ แต่ความสามารถในการผลิตวัตถุดิบน้ำและกระแสความนิยมทำให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเกาหลีไปไกล
"ไทยต้องเริ่มจริงจังเนื่องจากไทยมีสมุนไพรและสารตั้งต้นเยอะมาก แต่ที่ผ่านมานักวิจัยทำได้ระดับหนึ่งแล้วไปต่อไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีกลับนำผลงานไปต่อยอด สำหรับความสำเร็จในการผลิตเมือกหอยทากไทยนี้จะเป็นอีกก้าวของอุตสาหกรรมความงามไทย"นายนาคาญ์ระบุ
*******************************