xs
xsm
sm
md
lg

ผุดแนวคิดตั้ง “ปราชญ์ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์” ทุกจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
ก.วิทย์ผุดแนวคิดตั้ง “ปราชญ์ที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์” ทุกจังหวัด เตรียมประสานงานกระทรวงมหาดไทย  หลังเคยมีความร่วมมือตั้งรองผู้ว่าจังหวัดดูแลด้านวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริหารมีภาระเยอะและมีการโยกย้ายตำแหน่งบ่อยจนงานไม่ต่อเนื่อง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรขน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า หนึ่งในแผนปฏิรูปกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาชุมชน คือการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เพื่อชุมชน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงพื้นที่ไปยัง จ.บุรีรัมย์ พร้อมสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ซึ่งได้เห็นการนำเทคโนโลยีและแนวพระราชดำริไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำของชาวบ้าน

ตัวอย่างการจัดการน้ำโดยชุมชนที่ ดร.พิเชฐยกตัวอย่างคือชุมชนใน อ.กระสัง และ อ.นางราง จ.บุรีรัมย์ ซึ่ง 40 ปีก่อนเผชิญน้ำท่วมและน้ำแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ชาวบ้านมีหนี้ ส่งผลเสียหายต่อโครงสร้างครอบครัว ที่คนหนุ่มคนสาวต้องทิ้งถิ่นฐานเข้าไปหางานในเมือง เหลือเพียงเด็กๆ และผู้สูงวัย แต่ สสนก.ได้นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ภาพถ่ายดาวเทียม โทรมาตรวัดปริมาณน้ำ เทคโนโลยีการวัดความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อดูทางน้ำไหล ดูความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับทำแก้มลิง และแก้ปัญหาตะกอนดินที่พัดมาจากน้ำท่วม

“สิ่งที่ชาวบ้านแฮปปี้ เช่น รู้ทางน้ำไหล ทำให้ชาวบ้านบริหารจัดการได้ โดยทำทางแยกซอยให้น้ำไหลไปยังพื้นที่ไร่นา อีกซอยไหลไปทางอ่างเก็บน้ำ และอีกส่วนไปเก็บที่แก้มลิง แต่ที่มหัศจรรย์คือที่ “บ้านลิ่มทอง” ได้ทำตามแนวพระราชดำริ โดยสร้างถนนด้วยคอนกรีตที่หน้าแล้งใช้เป็นถนนสัญจรปกติ แต่เมื่อน้ำท่วมกลายเป็นทางน้ำไหลไปตามซอยต่างๆ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยแท้ และแก้ปัญหาโคลนตมที่พัดมาในช่วงน้ำท่วม โดยสร้างบ่อกรองตะกอนก่อนปล่อยน้ำสู่อ่างเก็บน้ำ เมื่อโคลนเต็มชาวบ้านก็ขุดทิ้งได้ แต่ถ้าลงอ่างเก็บน้ำเลยชาวบ้านทำไม่ไหว” ดร.พิเชฐกล่าว

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ดร.พิเชฐระบุว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์มีแนวคิดที่จะตั้ง “ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด” (Provincial Chief Science Advisor) เพื่อให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้พัฒนาชุมชน ซึ่งแรกเริ่มมีแนวคิดว่าที่ปรึกษาดังกล่าวน่าจะเป็นอาจารยืในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น แต่เมื่อหารืออีกทีเห็นว่าแต่ละชุมชนมีปราชญ์ชุมชนอยู่แล้ว จึงมองว่าที่ปรึกษาดังกล่าวน่าจะมาจากปราชญ์ชุมชน และเมื่อได้ที่ปรึกษาแล้วยังอยากให้แต่ละชุมชนมีการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ทั้งนี้จะได้ประสานงานไปยังกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อตั้งรองผู้ว่าจังหวัดเป็นผู้ดูแลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดย ดร.พิเชฐ ชี้แจงว่าโครงสร้างบริหารของหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากรองผู้ว่าส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในวัยใกล้เกษียณ และระบบในกระทรวงมหาดไทยยังมีการย้ายตำแหน่งบ่อย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความต่อเนื่อง ดังนั้นการนำที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเสริมจะเป็นประโยชน์

ทางด้าน นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสริมว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีศูนย์ที่ดูแลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค อยู่ 4-5 แห่งที่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี และสงขลา ซึ่งศูนย์ต่างๆ เหล่านี้ทำหน้าที่ประมวลกิจกรรมของกระทรวงแล้วเชื่อมโยงกับจังหวัดเพื่อเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ผลักดันและพัฒนาชุมชน  






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น