กระทรวงวิทย์ฯ ปลดล็อคเงื่อนไข นักวิจัย-นักเรียนทุน ไม่สามารถทำงานในภาคเอกชน “ดร.พิเชฐ” ยัน ผู้ปฏิบัติงานสามารถนับอายุงาน และการใช้ทุน ทั้งได้สิทธิขึ้นเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งตามเกณฑ์ต้นสังกัด เตรียมจัดงานจับคู่นักวิจัยกับภาคธุรกิจ 25 มี.ค.นี้
หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรร (วทน.) จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอ นั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ดร.พิเชฐ ระบุว่า หนึ่งในนโยบายรัฐบาล คือ มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา สู่เป้าหมาย 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐ 70 : 30 จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พบว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนนับจากปี 2551 - 2556 ได้เพิ่มขึ้นจาก 7,273 ล้านบาทเป็น 26,768 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 368 %
“เมื่อเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะเกิดความต้องการบุคลากรด้าน วทน. มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน บุคลากรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในภาครัฐและภาคอุดมศึกษาถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีบุคลากรดังกล่าวเพียง 17 % นโยบาย ส่งเสริมบุคลากรภาครัฐไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนจะทำให้เกิดการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน” ดร.พิเชฐ กล่าว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากนี้เป็นต้นไป กฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้นักวิจัย และนักเรียนทุนรัฐบาลไม่สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ จะถูกคลี่คลาย โดยผู้ไปปฏิบัติงานภายใต้นโยบาย Talent Mobility ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา โดยให้นับเป็นอายุราชการหรืออายุงานของหน่วยงานต้นสังกัด และสำหรับผู้ที่มีข้อผูกพันตามสัญญาชดใช้ทุน ให้นับเป็นเวลาใช้ทุนตามสัญญาด้วย อีกทั้งยังให้บุคลากรดังกล่าวสามารถใช้ผลการปฏิบัติงานในภาคเอกชน เป็นผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือตำแหน่งงานอื่นๆ รวมถึงการขึ้นเงินเดือน ตามเกณฑ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดจะจัดทำขึ้น
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยได้นำร่องจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility (TM Clearing House) เพื่อรวบรวมข้อมูลจำนวนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญประมาณ 30,000 คน และข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงการประสานงานจับคู่บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีศูนย์ดังกล่าวกระจายอยู่ 4 แห่งทั่วประเทศ คือ ส่วนกลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภาคเหนืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสานอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคใต้อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ตอนนี้มีนักวิจัยเข้าร่วม 80 คน นักศึกษา 31 คน ใน 36 บริษัท ขณะนี้ มีสถานประกอบการที่อยู่ระหว่างการจับคู่จำนวน 134 โครงการ ต้องการนักวิจัยกว่า 200 คน” ดร.พิเชฐแจกแจง
พร้อมกันนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ยังเตรียมจัดงาน Talent Mobility Fair ในวันที่ 25 มี.ค.58 โดยภายในงานจะจัดให้เอกชนพบปะนักวิจัย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิจัยที่ไปทำงานในภาคเอกชน และนำเสนอผลงานวิจัยเด่นจากหน่วยงานพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวฐานข้อมูลนักวิจัยเพื่อประโยชน์ของภาคเอกชน
ทางด้าน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) หนึ่งในภาคเอกชนผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องตามนโยบาย Talent Mobility กล่าวว่า เอกชนจะได้รับประโยชน์จากศักยภาพของนักวิจัยภาครัฐจากโครงการนี้ โดยในส่วนของเวสเทิร์น ดิจิตอลนั้น มีบุคลากรจากมหาวิทยาลัย 17 แห่ง หน่วยงานงานราชการ 9 แห่ง มีอาจารย์ นักศึกษา เดินเข้าออกบริษัทกว่า 200 คน ขณะนี้ยังทำงานร่วมกันอยู่ 23 คน
“ได้พิสูจน์แล้วว่า นโยบายดังกล่าว มีส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรชาวไทย จึงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และบริษัทเองก็พร้อมที่จะเป็นต้นแบบ ให้ภาคเอกชนอื่นๆ ได้ศึกษาหากสนใจด้วย” ดร.สัมพันธ์ พร้อมบอกด้วยว่า แม้ภาคเอกชนจะเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักวิจัยของภาครัฐ แต่หากบริหารจัดการดีๆ จะได้ผลตอบแทนคุ้มกว่า เปรียบเหมือนลงทุน 10 บาทได้กำไร 30 บาท และยังได้ประโยชน์จากการลดภาษีด้วย
ส่วน ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์จากสถาบันวิทยากรหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะเป็นผู้แทนนักวิจัยและนักเรียนทุนที่อยู่ในโครงการนำร่อง Talent Mobility ว่า การได้มีโอกาสได้ทำงานกับภาคเอกชน คือประสบการณ์ที่มากว่าในห้องเรียน และในฐานะที่เป็นทั้งอาจารย์ และเป็นนักเรียนทุนที่ได้ทำงานกับภาคเอกชน สิ่งที่ได้คือประสบการณ์จริงจากการทำงาน จากอาจารย์ที่แค่เพียงสอน แต่ทุกวันนี้ต้องตอบคำถามจากประสบการณ์จริงของลูกศิษย์ที่ได้ทำงานกับภาคเอกชน ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นทั้งสองทาง
“ความกดดันและความหวังต่อเป้าหมายของโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมชัดเจนกว่า ส่งผลให้เมื่อกลับไปมหาวิทยาลัยแล้วเรานำมุมมองที่แตกตางกลับไปปรับเปลี่ยน ทำให้การทำงานในมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้ภาคเอกชนยังพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีราคาแพง และพบว่านักศึกาามีวินัยสูงขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนให้ความสำคัญต่อ “เวลา” เท่ากับทรัพยากรอื่นๆ” ดร.ปราการเกียรติระบุ
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sti.or.th/talentmobility โทรศัพท์ 02 160 5432 ต่อ 222
*******************************