กระทรวงวิทย์ฯ ร่วมกับ ส.ป.ก. นำวิทย์ฯ ช่วยชุมชน จับมือแก้ปัญหาน้ำ-ที่ดินทำกิน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเดิมพื้นที่แรก "โครงการเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี" เร่งแก้ปัญหาน้ำไม่ขาดแต่บริหารจัดการไม่ได้ พร้อมระดมงานวิจัยปุ๋ยแก้ปัญหาคุณภาพดินเสื่อมโทรม ก่อนขยายข่ายความร่วมมือทั่วประเทศ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สู่ชุมชน ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 57
ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจาก 3 ส่วนด้วยกันคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ, ส.ป.ก.ที่เป็นหน่วยงานจัดหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร วางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน และชุมชนในโครงการเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางจนเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น เพราะพื้นที่ในโครงการเพชรน้ำหนึ่ง ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในความดูแลของ ส.ป.ก.ที่ประสบกับปัญหาหลายๆ ด้านและต้องการการเข้ามาแก้ไขด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน
"การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ไม่มีกำหนดเวลา เพราะเราจะทำไปเรื่อยๆ โดยจะขยายไปยังเขตพื้นที่อื่นๆ ที่ ส.ป.ก.รับผิดชอบด้วย เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มีองค์ความรู้และนักวิจัยอยู่มากมาย เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน เพราะปัญหาที่ผ่านมาหลังจาก ส.ป.ก.จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรจนสำเร็จคือพวกเขาไม่สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ เพราะทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลจนเป็นหนี้เป็นสิน" ดร.วีระชัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ส.ป.ก. เผยว่า พื้นที่โครงการเพชรน้ำหนึ่งเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟเก่า จัดซื้อผ่าน ส.ป.ก.ด้วยกองทุนของชุมชน แต่ประสบปัญหาการมีพื้นที่แล้วไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะดินบริเวณนั้นเป็นดินดานปนทรายไม่มีสารอาหาร ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีทำให้ปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยอยู่แล้วเพียงปีละ 5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอต่อความต้องการของชุมชนได้ ชาวบ้านจึงร้องขอมายัง ส.ป.ก.และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้นำองค์ความรู้หรืองานวิจัยต่างๆ ที่สามารถช่วยเหลือชุมชนของเขาได้มาใช้ในพื้นที่
"เกษตรกรในพื้นที่ส่วนมากจะปลูกข้าว ปลูกผักหลายๆ ชนิดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะดินไม่อุ้มน้ำและมีสารอาหารน้อย พักหลังจึงหันมาเลี้ยงไส้เดือนเพื่อฟื้นฟูดินแต่ก็ยังไม่เห็นผลเพราะต้องใช้เวลานาน จึงอยากให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่น่าจะมีเทคโนโลยีพร้อมใช้อยู่แล้วนำมาทดลองในพื้นที่ และมาช่วยดูแลการบริหารทรัพยากรน้ำ เพราะแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการเพชรน้ำหนึ่งเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเชื่อมต่อกันจากโครงสร้างสนามกอล์ฟเดิมเท่านั้น ประกอบกับอยู่ด้านหลังเขาทำให้มีฝนตกน้อย การจะนำน้ำมา้จำเป็นต้องอาศัยเครื่องสูบทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง" นายสุวรรณ กล่าว
ด้าน นายอลงกรณ์ เหล่างาม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเข้าไปช่วยเป็นอันดับแรก คือ เรื่องของน้ำและดิน โดยเรื่องน้ำจะมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เข้าไปช่วยดูแลเพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระดับขาดแคลนน้ำ แต่ไม่มีการจัดการที่เหมาะสม จะมีการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเครื่องสูบน้ำแทนการใช้ไฟฟ้า และในส่วนของดินทางกระทรวงวิทยาศาสตร์จะจับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง แต่ในขั้นต้นจะนำงานวิจัยเกี่ยวกับปุ๋ยเข้าไปดูแล และให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับการให้ปุ๋ยเฉพาะจุดอย่างถูกต้องและเหมาะสม
"การนำวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่โครงการเพชรน้ำหนึ่ง จ.เพชรบุรี ถือเป็นโครงการแรกที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำร่วมกับ ส.ป.ก. เป็นการริเริ่มที่ดีเพราะ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีการทำงานในหลายๆด้าน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบจะทุกสาขา การเข้ามาทำความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้งานวิจัยและการพัฒนาต่างๆ ได้ลงไปสู่รากหญ้าสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการบอกโจทย์งานวิจัยใหม่ๆ จากชาวบ้านไปหานักวิจัยโดยตรง ทำให้การทำงานทำได้เร็วขึ้น มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเราตั้งเป้าหมายว่าการพัฒนาในพื้นที่โครงการเพชรน้ำหนึ่งจะสำเร็จภายในปี 58" ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************