ตำรวจใช้มาตรวิทยาช่วยยัน "เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมีมาตรฐานเชื่อถือได้" ชี้ ! หากไม่มั่นใจให้สังเกตสติ้กเกอร์บนตัวเครื่องรับรองการสอบเทียบจากกรมวิทย์การแพทย์ทุก 6 เดือน แก้ปัญหาพวกหัวหมอ "เมาแล้วตุกติก" อ้างเครื่องมือตำรวจไม่ได้มาตรฐาน หวังตำรวจทำงานง่ายขึ้น อุบัติเหตุลดลง
สำนักพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโครงการสร้างความมั่นใจในการใช้เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ เพิ่มความเชื่อมั่นการทำงานของตำรวจคืนความสุขประชาชน ณ ห้องประชุมตำรวจนครบาล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 57
พลตำรวจโท ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของทุกปี จะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถิติล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุมากถึง 3,174 ครั้งที่ทำให้มีผู้เจ็บ 3,345 คนและมีผู้เสียชีวิตถึง 366 ราย โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเมาแล้วขับของผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้ผู้ร่วมเดินทาง และผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ พลอยได้รับความเดือดร้อน แม้ตำรวจจะมีการตั้งด่านตรวจเพื่อการป้อมปรามผู้เมาแล้วขับเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ตาม
พลตำรวจโท ประวุฒิ ระบุว่า การตรวจสภาพผู้ขับขี่ว่ามีการอาการเมาสุรา หรือมีการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาขับรถหรือไม่นั้นจะใช้การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ผ่านทางการตรวจปัสสาวะ, การเจาะเลือด และใช้เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ โดยกำหนดว่าผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเป็น "ผู้เมาสุรา" และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะแต่ถ้ามีการฝ่าฝืน จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งในปัจจุบันจะคงไว้แต่วิธีการใช้เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถใช้ได้อย่างสะดวก และสามารถดำเนินการได้ในที่เกิดเหตุทันที
"การใช้เครื่องเป่าแอลกอฮอล์เป็นวิธีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้ขับขี่บนท้องถนนมาเป็นเวลานานและเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะการจะจับคนๆ หนึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน เครื่องต้องมีการสอบเทียบ จะทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตรฐานและความแม่นยำของเครื่องเป่า จึงเกิดการประสานงานกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเพื่อจัดทำโครงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจขึ้น เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจต่อประชาชน" ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว
ด้าน นาง จุรีภรณ์ ปุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการสร้างความเชื่อมั่นฯ ที่จัดขึ้นนี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการบูรณาการกันระหว่างกระทรวงเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน โดยสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบเทียบ และใช้มาตรฐานควบคุมเครื่องมือแพทย์ต่างๆ มากว่า 20 ปี
"คนทั่วไปสามารถตรวจสอบมาตรฐานความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ด้วยการสังเกตสติกเกอร์รับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ถือเป็นเครื่องมือแพทย์อย่างหนึ่งที่ต้องมีการตรวจวัดมาตรฐาน ต้องมีการสอบเทียบทุกๆ 6 เดือน และต้องมีวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจและสบายใจว่าผลที่ได้เกิดจากค่าจริง ไม่มีการกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบการสอบเทียบเครื่องมือนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงอยากให้ประชาชนสบายใจและมั่นใจกับการทำงานของตำรวจว่าเครื่องวัดที่ใช้ในการบังคับคดีต่อผู้ขับขี่ที่เมาสุราว่ามีความแม่นยำ ผ่านการสอบเทียบและบำรุงรักษาที่ถูกต้องตามหลักแล้ว
ด้านนายประยูร เชี่ยววัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า เครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ ต้องได้รับการสอบเทียบจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เนื่องจากหัววัดของเครื่องเป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมี จึงต้องได้รับการสอบเทียบทุกๆ 6 เดือน และต้องมีสติกเกอร์รับรองเครื่องในช่วงเวลาอยู่ที่ตัวเครื่อง เพื่อปรับให้หัววัดสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติที่จะเข้ามาดูแลมาตรฐานการสอบเทียบ เพื่อประชาชนสบายใจและมั่นใจได้ว่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ที่ตำรวจนำมาให้เป่ามีความถูกต้องตรงตามมาตรฐาน
กิจกรรมภายใต้โครงการมี 2 ส่วนด้วยกันคือ ให้การฝึกอบรมด้านเทคนิคการสร้างความเชื่อมั่นต่อผลการวัดด้วยระบบมาตรวิทยา และการอบรมการใช้และการบำรุงรักษาเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจโดยวิทยากรจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งมีการนำร่องดำเนินการกับตำรวจจราจรแล้วกว่า 500 นาย มาตั้งแต่วันที่ 12-18 ธ.ค. ณ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ โดยเน้นไปที่กองบัญชาในเส้นทางเดินทางของประชาชนจำนวนมาก อาทิ จ.เชียงใหม่, พิษณุโลก, ขอนแก่น, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้นในวันนี้ นายประยูร ระบุ
ในส่วนของ สิบตำรวจเอก ยุวพล จันทวาท ตำรวจจราจรสถานีตำรวจคันนายาว เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนไม่ยินยอมการเป่าเครื่องเพื่อตรวจแอลกอฮอล์จริง เพราะคิดว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานและจะมีการกลั่นแกล้ง ทำให้การทำงานของตำรวจยากขึ้นและต้องใช้เวลาอธิบายข้อเท็จจริงเป็นเวลานาน ซึ่งในส่วนของมาตรฐานและวิธีการใช้เครื่องตำรวจทุกคนจำเป็นต้องได้รับการอบรมก่อนจึงจะนำมาใช้กับประชาชนได้ และต้องเป็นผู้ที่ตำรวจพิจารณาว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายเมาแล้วขับเท่านั้นจึงจะโดนตำรวจเรียกเพื่อตรวจระดับแอลกอฮอล์
"ประชาชนส่วนมากน่ารัก และเข้าใจการทำงานของตำรวจ แต่พวกหัวหมอก็มีจะไม่ยอมเป่าท่าเดียว อ้างเครื่องไม่ได้มาตรฐานบ้าง อ้างกลัวตำรวจมั่วบ้าง อ้างรู้จักกับผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้บ้าง ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยืนแทบจะทรงตัวไม่ได้แล้ว ผมอยากบอกประชาชนแทนตำรวจทักคนครับว่า เครื่องมือที่ตำรวจใช้สำหรับการตรวจแอลกอฮอล์มีความสะอาดและได้มาตรฐาน เพราะเรามีการบำรุงรักษา การสอบเทียบเครื่องมือที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกๆ 6เดือน และมีการเปลี่ยนหลอดเป่าทุกครั้งเพื่อสุขอนามัยของผู้โดยตรวจ ตำรวจไม่ได้อยากตั้งด่านเยอะๆ หรอกครับ ทราบดีว่ามันน่ารำคาญ แต่เราแค่อยากให้ประชาชนขับขี่กันอย่างมีความรับผิดชอบ อุบัติเหตุต่างๆ จะได้ลดลง" สิบตำรวจเอก ยุวพล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************