xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาจับมือญี่ปุ่น-สิงคโปร์ศึกษาพัฒนาการใช้สมองและมือลิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) ศ.น.สพ.มงคล เตชะกำพุ, ดร.เคนจิ  โอเอดะ, ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล, ศ.เจมส์ เบสท์
จุฬาฯ จับมือสถาบันริเกน ประเทศญี่ปุ่น และ ม.หนานยาง ประเทศสิงคโปร์ จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านไพรเมทศึกษา พัฒนาด้านการใช้สมองและมือของลิง พร้อมขยายโอกาสนักวิจัยหน้าใหม่ทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำงานวิจัยระหว่างสถาบันยกระดับงานวิจัยขั้นพื้นฐาน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันริเกน (RIKEN Institute of Physical and Chemical Research) ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยหนานยาง (Nanyang Technological University) ประเทศสิงคโปร์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, ประสาทวิทยา, สังคมวิทยาและมนุษยศาสตร์ ระหว่างนักวิจัยและนิสิต และการประชุมวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยด้านไพรเมท ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และตึกชีววิทยา 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค. 57

ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการวิจัยไพรเมท เป็นอีกข่ายงานการวิจัยหนึ่งที่สร้างคุณูปการให้กับสังคมทั้งทางด้านชีววิทยา สรีรวิทยา ชีววิทยาทางการแพทย์ และทางด้านเภสัชศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการวิจัยด้านไพรเมทมากขึ้นจนเกิดเป็นศูนย์วิจัยไพรเมทที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ, ยุโรป ญี่ปุ่นรวมถึงประเทศไทยที่มีศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ เผยว่า ศูนย์วิจัยฯ แต่ละแห่งจะมีความเชี่ยวชาญและขอบข่ายการทำงานวิจัยที่แตกต่างกันเนื่องจากสภาพแวดล้อม สภาพภูมิประเทศ ชนิดของลิง และระดับของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน การบูรณาการความรู้และการแลกเปลี่ยนนักวิจัย จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้วงการวิจัยไพรเมทพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

"ศูนย์วิจัยไพรเมทของไทยได้ดำเนินงานวิจัยระดับอาจารย์ กับมหาวิทยาลัยหนานยาง ประเทศสิงคโปร์ ในการออกภาคสนาม เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้มือของลิงมาตั้งแต่ปี 2550 ในขณะที่มหาวิทยาลัยหนานยาง ก็มีความร่วมมือกับสถาบันริเกน ประเทศญี่ปุ่น จากการวิจัยทางด้านประสาทเช่นกัน จึงเกิดการประสานงานกันระหว่างผู้อำนวยการของทั้ง 3 สถาบัน เกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น โดยในระยะแรกจะทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการใช้สมองและการใช้มือของลิง" ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทางด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง เพราะเป็นความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นการขยายโอกาสให้อาจารย์, นักวิจัย, นิสิตนักศึกษาของทั้ง 3 สถาบันไม่เฉพาะแต่คณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักวิจัยในคณะแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์ และจิตวิทยา ที่มีหัวข้อการวิจัยในลักษณะที่เกี่ยวข้องให้มีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัย ซึ่งถือเป็นมิติใหม่และเป็นสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายโครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำร่วมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน เช่น การวิจัยทางด้านไพรเมท การทำงานร่วมกันกับสถาบันชั้นนำอื่นๆ ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นการวิจัยที่สามารถก่อร่างสร้างตัวเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายารักษาโรค หรือวัคซีนต่างๆ เป็นงานวิจัยแบบปิดทองหลังพระที่คนทั่วไปไม่ทราบถึงประโยชน์ จึงให้ความสนใจกับการวิจัยประยุกต์มากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้วงานวิจัยขั้นพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

"ไม่มีใครเก่งทุกด้านหรอกนะ สถาบันการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าหากเราจะทำวิจัยเดี่ยวๆ ตัวคนเดียวมันก็ทำได้แต่กว่าจะเสร็จคงลำบากไม่น้อย จะไม่ดีกว่าหรอถ้าเรามีพันธมิตรที่ดีมีเพื่อนคู่คิดที่ดี ให้เขาเอาความเก่ของเขามาช่วยเรา เราความเก่งของเราไปช่วยเขา แบบนี้ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า" อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ในส่วนของ ดร.เคนจิ โอเอดะ (Dr.Kenji Oeda) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือนานาชาติ สถาบันริเกน ประเทศญี่ปุ่น กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เขายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับทั้ง 2 สถาบัน เพราะการวิจัยทางด้านไพรเมทจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโลก โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์ เนื่องจากการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสูตรยา หรือวัคซีนแก่มนุษย์ จำเป็นต้องทดสอบกับสัตว์ทดลองเสียก่อน จึงจะนำมาใช้ในการตรวจสอบทางคลินิกได้ ซึ่งการใช้ลิงถือเป็นโมเดลการศึกษาที่ดีที่สุด เพราะผลที่ได้จะมีความใกล้เคียงกับการทดลองในมนุษย์ และจะช่วยลดขั้นตอน หรือระยะเวลาต่างๆ ลงได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับการทดลองในหนู

"การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสร้างประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับวงการวิจัยได้อีกมาก และหวังว่าคนส่วนมากจะเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของการวิจัยไพรเมทมากขึ้นจากการประชุมวิชาการในโอกาสนี้ มากกว่าจะพูดถึงแต่เรื่องจริยธรรม และการบอกว่านักวิทยาศาสตร์ทารุณสัตว์ ซึ่งไม่เป็นความจริง และพวกเรามีหลักจริยธรรมปฏิบัติ" ดร.เคนจิกล่าว
บรรยากาศขณะการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ
ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น