xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: สื่อวิทย์ สื่อยังไง ทำไมคนไม่สนใจ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สวทช.
แม้จะมีความพยายามสร้างสังคมที่คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กันมานาน แต่ "การสื่อสารวิทยาศาสตร์" ไปยังมวลชนก็ยังมีอุปสรรคและไปไม่ถึงเป้าหมาย คนวงในมองปัญหานี้อย่างไร SuperSci พาไปหาคำตอบ




ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิจัยสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ อยู่ที่วงการสื่อสารมวลชนในปัจจุบันมีการนำเสนอข่าวหรือรายการที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์น้อยเกินไป หากไม่อยู่ในหน้าการศึกษาก็จะเป็นหน้าเทคโนโลยี เพราะทุกฝ่ายยังให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์น้อยเกินไป ทำให้ไม่มีการลงทุนหรือหากมีการลงทุนก็เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างน้อย จนไม่เพียงพอต่อการทำรายการวิทยาศาสตร์ออกมาให้ผู้ชมได้ดูกัน และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เด็กส่วนมากไม่อยากเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่เฉพาะแต่เด็กไทยแต่เป็นแนวโน้มของเด็กทั้งโลก การทำให้วิทยาศาสตร์สำหรับทุกคนเป็นเรื่องน่าสนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ที่จะทำให้คนหันกลับมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น

“นอกจากในหน้าจอทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์แทบจะไม่มีรายการวิทยาศษสตร์ให้ได้ชมกันแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับมีรายการบันเทิงเบาสมอง มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระจำนวนมาก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรู้ใดๆ แก่ผู้ชมอยู่เต็มไปหมด ” ดร.นำชัย กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการ บ.ไทยวิทัศน์ จำกัด สื่อมวลชนอาวุโส เผยว่า ในปัจจุบันมีสื่อมากมายหลายแขนงเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เกิดปัญหานักนิเทศศาสตร์ นักสื่อสาร นักวารสารศาสตร์มีไม่เพียงพอในทุกๆ สาขา ซึ่งต้องยอมรับว่าข่าววิทยาศาสตร์เป็นข่าวที่เล็กมากในพื้นที่ข่าวในปัจจุบัน เพราะคนในสังคมไม่ได้ให้ความนิยม ทำให้ข่าววิทยาศาสตร์ยังคงเป็นข่าวส่วนย่อย ที่ถ้าไม่มีพื้นที่เหลือก็จะไม่ได้นำเสนอ ด้วยเหตุนี้ทำให้นักข่าวที่จะมาทำงานทางด้านข่าววิทยาศาสตร์ตรงๆ มีน้อย ยิ่งถ้าเป็นนักข่าววิทยาศาสตร์ที่ปลีกตัวไปเรียนวิทยาศาสตร์ยากๆ มาโดยเฉพาะยิ่งไม่มีแล้วใหญ่ เพราะตลาดไม่เปิด ทำให้ไม่มีใครมั่นใจว่าจะจบมาแล้วมีงานรองรับ จึงต้องเริ่มแก้ที่ตัวเนื้อหาที่จะสื่อสารออกไปทำให้วิทยาศาสตร์ดูไม่น่าเบื่อ ดูไม่ยากจนเกินไป เป็นเรื่องที่น่าสนุก มีเรื่องน่าสนใจไม่เว้นแต่ละวัน

ทางด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุปสรรคอันดับแรกที่ทำให้การสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมเป็นไปได้ยาก คือ ประชาชนส่วนมากยังไม่เปิดใจรับเพราะคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและไม่เกี่ยวข้องชีวิตประจำวัน อีกทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังขาดทักษะในการสื่อสาร ทำให้เวลาออกไปให้ความรู้แก่ประชาชนอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะประชาชนไม่เข้าใจในคำพูดหรือศัพท์พื้นฐานบางอย่างที่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และในส่วนของนักสื่อสารก็ไม่มีหลักสูตรที่เป็นการสื่อสารวิทยาศาสตร์เพราะไม่มีงานรองรับ ทำให้วิทยาศาสตร์ยังคงเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึงประชาชนในทุกภาคส่วน การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าการให้นักสื่อสารลงมาเรียนวิทยาศาสตร์เชิงลึกเฉพาะทาง
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการ บ.ไทยวิทัศน์ จำกัด
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น