xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือฝัน? ตั้งโรงงานผลิตล้อยางโดยคนไทยแก้ราคาตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำยางพารา (ภาพจาก ดร.กฤษฎา สุชีวะ)
ปัญหาราคายางพาราโลกตกต่ำดิ่งเหวไปถึง 3 กิโลกรัม 100 บาทในขณะนี้ ยังคงเป็นปัญหาบีบหัวใจชาวสวนยางคนไทย จนเกิดเสียงอื้ออึงตามมาถึงมาตรการการจัดการกับวัตถุดิบยางพาราในประเทศ ว่าทำไมถึงไทยถึงไม่ค่อยมีโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยเอง แล้วอุตสาหกรรมยางล้อฝีมือคนไทยเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว ทำไมถึงยังไม่ค่อยเห็นยางล้อรถยนต์ฝีมือคนไทยอยู่ในท้องตลาดเหมือนยางล้อชั้นนำ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก

ดร.กฤษฎา สุชีวะ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลผลิตยางพาราต่อปีเป็นจำนวนมาก มีสถิติการส่งออกยางพาราในรูปของวัตถุดิบมากถึงปีละ 4 ล้านตัน จากความต้องการเฉลี่ยทั่วโลก10 ล้านตันต่อปี ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบประเภทยางแผ่น, ยางแผ่นรมควัน, ยางแท่ง และยางก้อนเป็นที่ 1 ของโลก แบบไร้คู่แข่งมาโดยตลอด เพราะประเทศผู้ผลิตยางพาราส่งออกในรูปของวัตถุดิบที่รองลงมา คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชาและเวียดนามมีผลผลิตรวมกันต่อปีเพียงแค่ประมาณ 4 ล้านตัน และไม่มีการบริหารจัดการยางพาราที่มีประสิทธิภาพ

"เราส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบคิดเป็น 90% ของผลผลิตทั้งหมด นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่ปัญหาที่เราต้องพบและควบคุมไม่ได้เลย คือเรื่องของราคาที่จะต้องปรับเปลี่ยนขึ้นลงอยู่เรื่อยๆ ตามกลไกตลาดโลก ถ้าราคาสูงๆ ก็คงดี แต่ถ้าราคาต่ำแบบทุกวันนี้ชาวบ้านก็คงอยู่กันไม่ไหว เพราะในประเทศไทยมีโรงงานที่นำผลผลิตจากยางพาราในประเทศไปแปรรูปเองเพียงไม่กี่บริษัท ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่ทำยางล้อรถยนต์ และถุงมือยาง แต่ก็มีปริมาณการใช้วัตถุดิบยางพาราน้อยมากหากเทียบกับการส่งออกที่อยู่ในสเกลที่ใหญ่กว่าเยอะ" ดร.กฤษฎา เผย

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ราคายางพาราจะสูงหรือต่ำล้วนเป็นเรื่องของกลไกการตลาด หากมีความต้องการซื้อผลผลิตมากราคาผลผลิตก็จะสูง แต่ถ้าไม่มีความต้องการราคาสินค้าก็จะต่ำ หากยังจำได้เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ราคายางพาราสูงมากดีดตัวไปถึงกิโลกรัมละ 130-160 บาท เป็นผลมาจากประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ายางพาราอันดับ 1 ของไทยอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านและเปิดประเทศ มีการซ่อมแซมถนนหนทาง มีการซื้อขายลงทุนเกี่ยวกับยานยนต์มหาศาล มีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาล ทำให้มีความต้องการยางพาราที่สูงมาก จนชาวสวนยางคนไทยในขณะนั้นสามารถถอยรถป้ายแดง ร่ำรวยกันถั่วหน้า ประกอบกับมีนโยบายสนับสนุนการทำสวนยางพาราในรัฐบาลสมัยนั้นจนขยายการปลูกไปทั่วประเทศ

"แต่มีขึ้นก็ต้องมีลงเพราะหลังจากประเทศจีนเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อย ความต้องการยางพาราก็ลดลง ซึ่งตอนนี้ประเทศจีนก็เริ่มมีการปลูกยางพาราแล้วเช่นกัน ทำให้ความต้องการที่เคยมีมากแต่เดิมเริ่มลดน้อยลงเป็นผลให้ราคายางพาราตกต่ำแบบทุกวันนี้ แต่ก็คงไม่ใช่ตลอดไปเพราะสินค้าทุกอย่างมีวีฏจักรของตัวเอง ผมเชื่อว่าอีกสักระยะหนึ่งราคายางพาราก็จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในยุคเฟื่องฟูอีกครั้ง ซึ่งหลักเศรษฐศาสตร์ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำความเข้าใจและเปิดใจให้กว้าง สิ่งที่ดีที่สุดที่ชาวสวนยางทำได้ คือ ควบคุมคุณภาพน้ำยางให้ดี ควบคุมปริมาณผลผลิตน้ำยาง ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจยางพาราก็ต้องช่วยกันพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ยางให้มีสัดส่วนการใช้ยางพาราแท้ให้มากขึ้น และหันมาใช้ยางพาราแท้แทนที่การใช้ยางสังเคราะห์" ดร.กฤษฎา เผย

ดร.กฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องยางล้อตันรถฟอร์คลิฟต์ และอยู่ในแวดวงยางล้อตันมานาน ยางล้อตันต่างกับยางรถยนต์รถเก๋ง ตรงที่ภายในยางล้อตัน 1 เส้นจะประกอบด้วยเนื้อยางทั้งหมด แทนการสูบลมทำให้ต้องใช้ปริมาณยางพาราจำนวนมาก และมีน้ำหนักถึงเส้นละ 30 กก. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างกับยางล้อรถยนต์รถเก๋งเพราะคำนึงถึงแค่การรับน้ำหนัก การประหยัดพลังงาน ไม่ต้องทำความเร็วและมีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมเท่ากับยางรถยนต์ทั่วไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังทำได้ยากและยังต้องพัฒนาอีกมาก เพราะศักยภาพและองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนายางล้อตันและยางล้อรถยนต์ในไทยยังมีจำกัด ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ฝีมือคนไทยยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยด้วยกันเอง

"ถ้าพูดถึงดีสโตน, วีรับเบอร์ พวกคุณน่าจะพอนึกออกกันบ้าง เหล่านี้แหละคือชื่อยางล้อรถยนต์แบบผ้าใบที่ใช้กับรถปิคอัพที่ผลิตจากยางพาราไทย ฝีมือคนไทย แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่คนไทยเองเท่าไหร่ ทั้งที่อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ก็พัฒนามาพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมยางล้อตันเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่ด้วยความที่ยางล้อตันมีความต้องการทางสมรรถนะที่ไม่สูงเท่ากับยางล้อรถยนต์ ทำให้คนส่วนมากไม่ทราบว่าเราเองก็มีผู้ประกอบการที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางล้อรถยนต์อยู่ถึง 7 บริษัทกับกำลังการผลิตและเงินทุนจำนวนหนึ่ง" ดร.กฤษฎา เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

เช่นเดียวกับนักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ที่กล่าวว่า การจะสร้างโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์สักแห่งหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและค่อนข้างยากสำหรับระดับเทคโนโลยีที่ไทยมีในขณะนี้ เพราะการผลิตยางล้อรถยนต์ที่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดหลายประการ ทั้งการทดสอบคุณสมบัติการรองรับน้ำหนัก, ความแข็งแรง, การเบรค, การประหยัดพลังงาน ค่าความยึดเกาะถนน และความเสียดทานต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาที่จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาล

"ทำให้ในขณะนี้บริษัทผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศไทย ทำได้เพียงแค่ยางผ้าใบที่ใช้กับรถกระบะเท่านั้น ยังไม่สามารถผลิตยางเรเดียลเสริมใยเหล็กแบบสมรรถนะสูงได้ เพราะเพียงแค่การวิจัยลายหน้ายางของล้อรถยนต์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนเท่าการพัฒนาโครงสร้างภายในยังต้องใช้เวลามากถึง 2 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ การจะพัฒนายางล้อทั้งเส้นจึงต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้นอีกมาก เพราะนอกจากตัวเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน อีกปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนกำลังคนทั้งทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ และนักวิจัยยางพารา ซึ่งในขณะนี้มีเพียงแค่มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เท่านั้นที่มีหลักสูตรเปิดสอน" ดร.วีรศักดิ์ เผย

ดร.วีรศักดิ์ เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทยางชั้นนำของโลก อย่าง มิชลิน กู้ดเยียร์ หรือบริจสโตน บริษัทเหล่านี้ใช้นักวิจัยระดับปริญญาเอกนับร้อยคนในการพัฒนาสูตรยางแต่ละสูตร ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทุนวิจัยมหาศาล และใช้เวลาในการสร้างชื่อเสียงบริษัทร่วมร้อยปี หากเทียบกับไทยที่เพิ่งเริ่มทำวิจัยมาได้ไม่ถึง 20 ปีมันเลยเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ยางบริดจ์สโตนของประเทศญี่ปุ่นที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น เพราะเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญเนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ ที่สร้างผลประโยชน์และเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ ในขณะที่เราแทบจะขาดในทุกๆ ด้าน

ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีในการพัฒนายางล้อเท่านั้น ดร.วีรศักดิ์ เล่าถึงความเป็นไปในวงการวิจัยยางพาราไทยว่า การผลิตถุงมือยางเราก็ยังขาดองค์ความรู้ เพราะต้องซื้อองค์ความรู้การผลิตมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งไม่เพียงแสดงถึงความล้าหลังทางเทคโนโลยียางในทุกๆ ด้าน ยังทำให้ไทยเสียเปรียบทางด้านเทคนิคการผลิตที่เป็นความลับทางธุรกิจของประเทศมาเลเซียอีกด้วย เขาจึงอยากฝากถึงนักวิจัยหน้าใหม่ว่า หัวข้อทางการวิจัยยางพารายังมีอีกหลายเรื่องมากที่น่าสนใจ เพราะในขณะนี้เรามีการวิจัยในทุกๆ ด้านแลัว แต่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ ยังต้องการคนที่จะเข้ามาพัฒนาวงการยางพาราไทยอีกจำนวนมาก

"สรุปง่ายๆ คือตอนนี้เราพร้อมแค่วัตถุดิบยางพารา แต่เทคโนโลยี กำลังคน งานวิจัย องค์ความรู้ และงบประมาณสนับสนุนเราไม่พร้อม แต่ผมเชื่อว่าอีกไม่นานอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์โดยคนไทยจะต้องประสบความสำเร็จจนเป็นที่น่าพอใจได้อย่างแน่นอน ส่วนปัญหาราคายางพาราตกต่ำขอให้ทุกคนพยายามเข้าใจว่าเกิดจากกลไกของตลาดโลก และถ้าหากทุกคนใช้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเชื่อมั่นว่าพวกเราจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน" ดร.วีรศักดิ์ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ดร.กฤษฎา สุชีวะ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น