xs
xsm
sm
md
lg

ส่งท้ายการถ่ายช้างด้วยพาโนรามามุมกว้างกับวิวธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพวิวทิวทัศน์บริเวณม่อนตะวัน คู่กับแนวโค้งทางช้างเผือก ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบพาโนรามา จำนวน 2 แถวในแนวตั้ง รวมทั้งหมด 20 ภาพ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec / WB : 4200K / Panorama : 20 Images)
สำหรับการถ่ายภาพ Skyscape นั้น ท้องฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สำหรับผมตัวผมคิดว่าเวลาว่างเป็นสิ่งสำคัญกว่า ฮ่าๆ ที่พูดงั้นก็เพราะผมมักโอกาสไม่ค่อยดีเท่าไร พอฟ้าดีก็มีงานมาแทรกประจำ และภาพนี้ก็เป็นวันที่ฟ้าดีแต่ก็ยังมีแสงสว่างรบกวนจากดวงจันทร์ ซึ่งหลายคนพอเจอแสงดวงจันทร์ก็อาจถอดใจเลิกถ่ายช้างกันไปแล้ว ซึ่งจริงๆ แค่ขอให้ท้องฟ้าใสก็ยังพอถ่ายแนวทางช้างเผือกได้อยู่บ้างนะครับ

สำหรับคอลัมนน์นี้ ผมอยากชวนคนที่หลงไหลการถ่ายภาพทางช้างเผือก มาลองถ่ายภาพแนวทางช้างเผือกแบบมุมกว้างกับสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาวกันดูบ้างครับ ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่า ในช่วงนี้ถึงแม้บริเวณใจกลางทางช้างเผือกจะเห็นได้เพียงบางส่วนแล้วตกลับไปพร้อมกับดวงอาทิตย์ แต่ถึงใจกลางไม่อยู่ ก็ยังทิ้งแนวทางช้างเผือกไว้ให้สามารถสังเกตเห็นได้ลางๆ อยู่บ้างครับ

​ทุกๆ ปลายปี เทคนิคที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายภาพทางช้างเผือกมากที่สุดคือ การถ่ายภาพแบบพาโนรามา โดยการถ่ายภาพแนวทางช้างเผือกช่วงนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นช่วงโอกาสดีที่สุดของการถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามไว้คู่กับแนวทางช้างเผือก เพราะเราจะสามารถถ่ายภาพวิวทิวทัศน์กับแนวทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ในช่วงหัวค่ำ หรือช่วงทไวไลท์ได้เลยทีเดียว ประกอบกับแนวทางช้างเผือกจะอยู่ในมุมที่สูงไม่เกิน 60 องศา ทำให้ได้โค้งสวยๆ อีกด้วย โดยปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 แล้วที่ผมได้มีโอกาสได้ออกไปถ่ายภาพแนวทางช้างเผือกกับสถานที่ท่องเที่ยวไว้ ถึงแม้ว่าในปีนี้จะไม่ได้ถ่ายในช่วงวันคืนเดือนมืดก็ตาม เอาล่ะเรามาเริ่มกันเลยดีกว่า สิ่งแรกสำหรับการถ่ายภาพก็คือ การวางแผนถ่ายภาพครับผม

วางแผนก่อนเสมอ
​วันนี้เรามาลองเริ่มต้นถ่ายภาพพาโนรามากับสถานที่ท่องเที่ยวกันบ้างดีกว่า ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรเตรียมตัวถ่ายภาพก็คือการวางแผนกันก่อน โดยในการวางแผนในช่วงนี้เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่งของแนวทางช้างเผือก เวลา และสถานที่กันก่อนดังนี้

​1.วางแผนหาจุดถ่ายภาพทางทิศตะวันตก ที่มีวิวทิวทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยว ส่วนตัวผมคิดว่าภาพจะสวยหรือไม่สวยจุดนี้สำคัญมาก โดยอาจเดินทางไปสำรวจสถานที่ก่อนหน้าดวงอาทิตย์ตก และวัดมุมทิศ (มุมรอบตัว) ว่าควรตั้งกล้อง ณ ตำแหน่งใด ที่จะสามารถเก็บภาพได้ครบทั้งแนวทางช้างเผือกและฉากหน้าซึ่งเป็นวิวสถานที่ท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน

​2.ใช้แอปพลิเคชั่นช่วยในการวางแผนในการถ่ายภาพ โดยการปรับเวลาในแอปฯ หลังดวงอาทิตย์ตก จะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกตรงบริเวณไหน และอยู่ในมุมสูงเท่าไร ก็จะช่วยให้การจัดองประกอบภาพได้ง่ายขึ้น (หากใครที่ชำนาญแล้ว อาจข้ามจุดนี้ไปได้ แต่ผมคิดว่าใช้เถอะครับ!)
ตัวอย่างแอปพลิเคชั่น Star Chart สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่งสามารถช่วยในการดูดาว กลุ่มดาว และทางช้างเผือกได้ โดยสามารถจำลองวัน และเวลา ได้ตามต้องการ
3.ใช้ตัวช่วย L-Plate เพื่อความสะดวกในการถ่ายภาพแนวตั้ง ทั้งยังทำให้สามารถแพนกล้องได้สะดวก และช่วยรับน้ำหนักกล้องถ่ายภาพได้ดีกว่าการติดกล้องบนขาตั้งกล้องแบบปกติอีกด้วย
อุปกรณ์เสริม L – Plate ถือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้การถ่ายภาพแนวตั้งสะดวกและตัดปัญหาเรื่องน้ำหนักของกล้องเมื่อติดบนขาตั้งกล้องแบบทั่วไป ซึ่งถือว่ามีราคาไม่แพงและคุ้มค่า
4.อย่าลืมคำนวณเวลาถ่ายภาพ ว่าจะมีเวลาในการถ่ายภาพได้ก่อนที่บริเวณใจกลางจะตกลับขอบฟ้าไปเท่าไร รวมทั้งหาเวลารวมทั้งหมดในการถ่ายภาพ ว่าจะถ่ายทั้งหมดกี่ภาพ และภาพละกี่วินาที โดยใช้สูตรการคำนวณ Rule of 400/600 (รายละเอียดตามลิงค์ http://goo.gl/5fUlJF) มาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เราสามารถถ่ายภาพให้ดาวยังเป็นจุดในเวลาที่นานที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกใช้ค่า ISO ที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพ และทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี

​5. ถ่ายภาพจากทิศทางใจกลางทางช้างเผือกก่อนเสมอ เพราะบริเวณใจกลางทางช้างเผือกจะตกลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตก ซึ่งจะเหลือเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

ทำความเข้าใจกันก่อน
​ในสมัยอดีตคนสมัยนั้น ยังไม่มีนาฬิกา ไม่มีปฏิทิน แล้วคนเหล่านั้นเค้าทราบได้อย่างไรว่า ตอนนี้เวลาเท่าไร ช่วงไหนข้างขึ้นหรือของแรม หรืออยู่ในช่วงเดือนไหน คงต้องยอมรับว่านักดาราศาสตร์ในอดีตเก่งกันมากๆ และยังมีความอดทนและเฝ้ารอสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างที่เกิดขึ้นรอบตัว แล้วนำมาสร้างเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดต่อกันมาจนถึงปัจุบัน ดังนี้คือ

1 วัน ในอดีต ใช้ดวงตะวัน หรือดวงอาทิตย์ที่มีการขึ้น-ตก แล้วกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ถือเป็นช่วงเวลา 1 วันนั่นเอง

1 เดือน ก็ใช้ ดวงเดือน หรือดวงจันทร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเฟส หรือเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์ ใน 1 รอบ ที่เราเห็นเป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม ถือเป็นช่วงเวลา 1 เดือน นั่นเอง

1 ปี ก็ใช้ดวงดาวบนท้องฟ้า ที่มีดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านทั้งหมด 12 กลุ่มดาว หรือ 12 ราศี ตามแนวทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ กลุ่มดาวละ 1 เดือน รวม 12 กลุ่ม เป็น 1 ปีนั้นเอง

​จากความรู้อดีตสู่ปัจจุบัน เราก็ยังนำเอาความรู้มาใช้ ซึ่งหากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปอยู่ยังกลุ่มดาวราศีใด หรือกลุ่มดาวของเดือนใด นั้น ก็หมายถึงช่วงเวลาของเดือนนั้น เช่น ในช่วงนี้ตรงกับเดือนธันวาคม ก็หมายถึงดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนที่เข้าสู่กลุ่มดาวราศีคนยิงธนู หรือกลุ่มดาวประจำเดือนธันวาคม นั่นเอง โดยดวงอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่งในช่วงกลางๆ เดือน นั่นหมายถึงว่าเราจะยังพอเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้บ้างจนถึงกลางเดือนธันวาคม หลังจากนนั้นดวงอาทิตย์ก็จะเคลื่อนที่มาอยู่ตรงกลางราศีคนยิงธนูจนไม่สามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกอีกเนื่องจากถูกแสงดวงอาทิตย์กลบ และจะไปเห็นได้อีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า ประมาณปลายๆ เดือนกุมภาพันธ์อีกครั้งครับ

เทคนิคการถ่ายภาพพาโนรามา
1.ตั้งขาตั้งกล้องให้ได้ระดับ เพื่อช่วยในการแพนกล้องได้สะดวก โดยไม่ทำให้ภาพเอียง เมื่อนำภาพมาต่อในภายหลัง และยังช่วยให้ไม่ต้องครอปภาพส่วนที่เอียงหรือเกินออกไปมาก
การตั้งขาตั้งกล้องให้ได้ระดับ โดยทั่วไปขาตั้งมักจะมีระดับน้ำอยู่ติดกับขาตั้ง ก็สามารถใช้ในการปรับระดับขาตั้งให้ได้ระดับ
2.ถ่ายภาพด้วยโหมด M เพื่อให้สามารถปรับตั้งค่าการถ่ายภาพต่างๆ ในการถ่ายภาพเป็นค่าเดียวกันทุกภาพ ไม่ว่าจะเป็นค่ารูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และไวท์บาลานต์

3.ไวท์บาลานต์ต้องเป็นค่าเดียวกัน ไม่ควรใช้ระบบ Auto WB เนื่องจากอาจทำให้ภาพมีโทนสีแต่ละภาพแตกต่างกัน แล้วเมื่อนำภาพไปต่อกันใน Photoshop ภาพที่โทนสีต่างกันก็จะทำให้ภาพเหลื่อมสีกันได้ง่าย

4.ถ่ายภาพคร่อมกันอย่างน้อยครึ่งภาพ หรือมากกว่านั้น ซึ่งหากถ่ายภาพคร่อมกันเพียงนิดเดียวอาจเกิดปัญหาการต่อภาพในภายหลังได้ ซึ่งมักทำให้เกิดภาพที่มีแสงที่เหลื่อมกัน และภาพต่อกันไม่เนียนได้ง่าย

5.ใช้ตัวช่วย L-Plate หรือหัวเกียร์ (Geared Head) เพื่อความสะดวกในการแพนกล้องให้ได้ระดับ
L-Plate หรือหัวเกียร์ (Geared Head) ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพพาโนรามาแนวตั้งได้มาก โดยหัวเกียร์ (Geared Head) จะสะดวกที่สุดเนื่องจากสามารถปรับมุมองศาทั้งภาพทิศ และมุมเงยได้อย่างละเอียด สามารถรับน้ำหนักและถ่ายภาพแนวตั้งได้ดี แต่ราคาอาจสูงบ้าง (แต่หากจริงจัง ก็แนะนำซื้อเถอะครับ...คุ้ม!)
6. เทคนิคการถ่ายภาพพาโนรามาแนวตั้งแบบ 2 แถว ครั้งนี้แตกต่างจากการถ่ายภาพพาโนรามาแบบวนขวาไปซ้ายกลับไป-กลับมาเหมือนปกติ คือ ผมถ่ายพาโนรามาจากแถวที่ 1 จากฝั่งซ้ายที่เป็นบริเวณของใจกลางทางช้างเผือกไปทางขวา และกลับมาถ่ายแถวที่ 2 จากซ้ายไปขวาอีกครั้ง เนื่องจากต้องรีบถ่ายภาพการเก็บรายละเอียดในส่วนของใจกลางทางช้างเผือก
​และที่แนะนำให้ถ่ายพาโนรามาแนวตั้ง แบบ 2 แถว ก็เพื่อที่จะสามารถเก็บภาพวิวสถานที่ท่องเที่ยวกับทางช้างเผือกให้ได้กว้างมากที่สุดครับ (ในเวลาอันสั้น...)
ในการถ่ายภาพข้างต้น ผมเลือกถ่ายจากแถวล่างก่อน โดยวางองค์ประกอบภาพเป็นฉากหน้าครึ่งภาพและแนวทางช้างเผือกอีกครึ่งภาพ และเริ่มถ่ายจากทางซ้ายมือซึ่งเป็นตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกก่อน เพราะมีเวลาถ่ายภาพไม่กี่นาทีก่อนที่แนวใจกลางทางช้างเผือกจะตกลับขอบฟ้าไป
ภาพแนวทางช้างเผือกพาโนรามามุมกว้างกับสถานที่ท่องเที่ยว พระมหาธาตุนภเมทนีดล และ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพพาโนรามากว่า 270 องศา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 ของปีก่อน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 3200 / Exposure : 30 sec / WB : 3200K / Panorama : 35 Images)











เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน









กำลังโหลดความคิดเห็น