วว.เปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานพลาสติกชีวภาพครบวงจร ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน-ร่นเวลาดีกว่าส่งไปตรวจเมืองนอก พร้อม MOU บริษัทเยอรมันยกระดับพลาสติกชีวภาพไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก หลังยุโรปจี้หนักไม่รับบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดให้ทดสอบพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร ในด้านการปฏิบัติการทดสอบการย่อยสลาย การบริการทดสอบบรรจุภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาวัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์-สิ่งแวดล้อม และการบริการเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ผลักดันผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ และเพื่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 57 ณ ห้องบอลรูมซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว
ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะพลาสติกมีมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งขยะแต่ละชิ้นต้องใช้เวลามากถึง 500 ปีจึงจะย่อยสลายหมด คนทั่วโลกจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหานี้ โดยเฉพาะประเทศทางฝั่งยุโรปที่เป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศไทย จะเข้มงวดกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องเปลี่ยนประเภทของบรรจุภัณฑ์จากที่เป็นพลาสติกแบบธรรมดาให้เป็นพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ เกิดเป็นผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาที่พบมากในบริษัทผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในไทย คือ ต้นทุนการผลิต และมาตรฐาน-คุณภาพการผลิต ที่จำเป็นต้องพึ่งพาห้องปฏิบัติการในต่างประเทศเพื่อทดสอบคุณภาพและขอใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อพลาสติกชีวภาพไปใช้ในราคาสูงเช่นกัน
"วว. ทราบปัญหาที่เกิดกับวงการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยยังเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่และควรได้รับการสนับสนุน ประกอบกับ วว.เองก็มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้สามารถใช้งานเพื่อทดสอบคุณภาพพลาสติกได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เราจึงตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradability Testing Laboratory) ขี้น เพื่อให้บริการทดสอบการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพตามมาตรฐานสากล ที่จะช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการทดสอบลงได้มากกว่าครึ่ง" ผู้ว่า วว.กล่าวบนเวที
ด้าน ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยว่า ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพที่ วว.จัดตั้งขึ้นจะให้บริการทดสอบวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล ISO 17088 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. 17088/2555 ได้รับการขึ้นทะเบียนกับบริษัท ดินเซิทโก (Din Certco) บริษัทรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศเยอรมนี ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้นำผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาทดสอบคุณภาพว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบจะได้สิทธิในตรารับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ที่สามารถนำไปติดบนตราสินค้า เพื่อเป็นเครื่องการันตีถึงมาตรฐานและใช้ในการอ้างอิงชนิดบรรจุภัณฑ์กับคู่ค้าในประเทศที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้พลาสติกชีวภาพได้
ดร.อัญชนา อธิบายว่า เดิมทีผู้ประกอบการที่ต้องการการรับรองมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ จำเป็นต้องส่งตัวอย่างไปทดสอบยังต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี และใช้เงินในการดำเนินการสูงถึง 200,000-600,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก สำหรับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้น วว.เอง ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานาน เมื่อทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เราจึงหาวิธีที่จะช่วยผู้ประกอบการ โดยใช้ศักยภาพของนักวิจัยคุณภาพที่เรามีจึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติที่เกิดขึ้น โดยใช้มาตรฐานเดียวกับห้องปฏิบัติการระดับนานาชาติ
การทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก และสารอันตรายในพลาสติกทดสอบ (Chemical characterization), การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการทดสอบปลูกพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในห้องปฏิบัติการ (Ecotoxicity test), การหาระดับการแตกเป็นส่วนของพลาสติกภายใต้กระบวนการหมักทางชีวภาพ (Disintegration), การทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพ โดยการตรวจวัดกิจกรรมการย่อยสลายพลาสติกโดยจุลินทรีย์ (Aerobic Biodegradation) ซึ่งในขั้นตอนสุดท้าย เราได้พัฒนาสูตรการทดสอบบางอย่างที่ช่วยลดระเวลาในการวัดผลให้สั้นลง ทำให้ผู้ประกอบการได้ผลการทดสอบที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 4 เดือนและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ
"ความจริงเราให้การบริการแก่ผู้ประกอบการในการตรวจรับรองเบื้องต้นมาตั้งแต่ปี 53 แล้ว แต่ในขณะนี้ วว. พร้อมที่จะให้บริการเต็มรูปแบบแก่ผู้ประกอบการด้วยระบบทดสอบพลาสติกชีวภาพตามมาตรฐานสากล โดยได้เริ่มก่อสร้างอาคารศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 60 ที่นอกจากจะให้การบริการทดสอบพลาสติกชีวภาพแล้ว ยังจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอาทิ น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำมันหล่อลื่นด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นวห้กับผู้ประกอบการไทยให้มีความน่าเชื่อถือ และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ" ดร.อัญชนา เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ผอ.วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการให้บริการทดสอบคุณสมบัติแล้ว วว.ยังได้วิจัยคุณสมบัติและคุณประโยชน์การใช้งานด้านอื่นๆ ของพลาสติกชีวภาพด้วย ทั้งการร่วมงานกันระหว่างศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ที่ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุ และบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก ในการทดสอบความต้านทานแรงดึงขาดและการยืดตัว ความต้านทานแรงฉีกขาด อัตราการซึมผ่าน ความต้านทานตกกระแทก ด้วยระบบ ISO/IEC 17025 , การร่วมมือกับสำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ในการให้บริการเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ที่ได้รับความร่วมมือจาก บริษัทดินเซิทโก และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) เพื่อให้บริการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยรับบทบาทเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพกับบริษัท ดินเซิทโก ให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และช่วยลดขั้นตอนในการติดต่อขอรับบริการให้กับผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ได้มีการพัฒนาพลาสติกชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย โดยผลิตเป็นแผ่นกรองพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูง ที่สามารถนำไปใช้กับการฟอกไตหรือพัฒนาสำหรับการกรองของเสีย ได้ในอนาคต, การผลิตเฝือกอ่อน ทดแทนการนำเข้า นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้วยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน โดยการวิจัยของฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. ในโอกาสเดียวกันนี้ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. กับ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยในการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกฐานชีวภาพ และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง วว. กับบริษัท ดินเซิทโก ในการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพด้วย
ผู้ประกอบการที่สนใจบริการทดสอบพลาสติกชีวภาพครบวงจรที่ วว.สามารถติดต่อขอใช้บริการ และขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-5779000 หรืออีเมลล์ tistr@tistr.or.th
*******************************